ปทุมธานี “อุ้มพระลงเรือ ตักบาตรพระร้อยทางเรือ”วัดโบสถ์ ประเพณีของชาวไทยเชื้อสายรามัญ

“อุ้มพระลงเรือ ตักบาตรพระร้อยทางเรือ”วัดโบสถ์ ประเพณีของชาวไทยเชื้อสายรามัญที่ยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปีหลังวันออกพรรษาของทุกปี


เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 7 ต.ค.63 ที่วัดโบสถ์ อ.เมือง จ.ปทุมธานี นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานสืบสานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ พร้อมด้วย นายศุภชัย นพขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีและประชาชน นักเรียนโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี กว่า200คน ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่วัดโบสถ์ ประเพณีตักบาตรพระร้อยในเทศกาลวันออกพรรษา เป็นประเพณีของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยจะตกลงกำหนดแบ่งกันเป็นเจ้าภาพเพื่อไม่ให้ตรงกัน เพราะถ้าตรงกันแล้วจำนวนพระที่มารับบิณฑบาตจะได้ไม่ครบ 100 รูป และต้องการให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียมจัดทำอาหารหวานคาวไว้ทำบุญตักบาตร

การตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่ “พระสงฆ์รับบาตรอยู่ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ” เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการสัมผัส และมีส่วนร่วมในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่พบเห็นได้น้อยเต็มทีแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกขนสำรับคาวหวานมาเตรียมใส่บาตรที่ริมแม่น้ำ ไม่ได้ขนลงเรือมาเหมือนในสมัยก่อนเพราะหลายๆ บ้านไม่มีเรือใช้แล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สะดวกต่อการนำเรือออกมา“ประเพณีตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา ถึงช่วงวันออกพรรษาประจำปี ต่างเตรียมข้าวของ ทั้งอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง พืชผักผลไม้ พระจำนวนกว่าร้อยรูปนั่งบนลำเรือล่องเลาะริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรอย่างอิ่มอุ่น ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป”.

 

 


ทั้งนี้ยังมีการรำพาข้าวสาร ร้องเพลงรำพาข้าวสาร ไปตามบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้ยินเสียงเพลงและออกมาร่วมกันทำบุญโดยประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำได้นำข้าวสารและอาหารแห้งต่างๆ ใส่ถุงและมอบเงินบริจาคซึ่งข้าวสารและเงินที่ได้มาจะนำไปทำบุญทอดกฐิน และทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ ที่ยังไม่มีคนจองกฐิน หรือยังไม่ได้ทอดกฐินนั่นเอง