อุบลฯ ยึดหลัก “บวร” จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “จิตอาสา ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด”

อุบลฯ ยึดหลัก “บวร” จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “จิตอาสา ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด” ร่วมพัฒนาดิน เนื่องในวันดินโลก โครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายวินิจ เทพนิต นายอำเภอโขงเจียม เป็นประธานในพิธีจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “จิตอาสา ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 69 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2564 โดยได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณ พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่กรุณาให้การสนับสนุนสถานที่และอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน ตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ ตลอดจน นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นางไพรวัลย์ คำจริง พัฒนาการอำเภอโขงเจียม นายสุรพล กอมณี สมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานี นางปณิตา มณีโชติ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าส่วนราชกรในอำเภอโขงเจียม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง คณะครูและนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลห้วยยาง เข้าร่วมพิธีและดำเนินกิจกรรมฯ ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

สำหรับกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี จิตอาสา ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด” ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และ วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ปลูกสมุนไพรให้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน มั่นคงแก่ประชาชน ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยดำเนินการในพื้นที่แปลง โครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” วัดป่าศรีแสงธรรม ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมโคก หนอง นา ให้กับชาวบ้านที่สนใจจะนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์โรคระบาด ที่ส่งผลกระทบไปทั้งเศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จึงเป็นทางรอดหนึ่งที่ได้ให้ความรู้และการศึกษา ทางด้าน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางอากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางน้ำที่ไม่ขาดแคลน ความมั่นคงทางด้านพลังงานบริสุทธิ์ และที่สำคัญคือความมั่นคงทางสังคมครอบครัว

โดยกิจกรรมภายในงาน หลังจากที่ ประธานฯ ได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบพิธีฯ เฉลิมพระเกียรติ แล้ว ยังได้ร่วมปลูกพืชสมุนไพรและปล่อยพันธุ์ปลาที่หนองน้ำโครงการพระราชทาน”โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง” วัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งการปลูกต้นไม้และสมุนไพรในครั้งนี้นั้น นอกจากจะเป็นการปลูกป่า 5 ระดับ และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อป้องกันและบรรเทาโรคโควิด-19 นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการเกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะวันดินโลก (World Soil Day) คือ วันที่ 5 ธันวาคม ถือเป็นวันสำคัญที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน จะเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ซึ่งนักปฐพีวิทยาของไทยทุกคนภาคภูมิใจ เนื่องจากวงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติเลือกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก และนักปฐพีวิทยาของไทยมีส่วนร่วมในการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การเกิดขึ้นของ “วันดินโลก (World Soil Day)” สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จึงควรบันทึกจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของ “วันดินโลก” เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบอย่างถูกต้อง

ท้ายที่สุด นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินกู้รัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยให้จังหวัดฯ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง (มากที่สุดในประเทศไทย) เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ซึ่งในห้วงเดือนกรกฎาคม เเละเดือน สิงหาคม ถือเป็นเดือนมหามงคล จึงได้จัดกิจกรรมจิตอาสาเอามื้อสามัคคี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล วันนี้ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เเละความกรุณาจากท่านนายอำเภอโขงเจียม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฯ กิจกรรมในวันนี้มีปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขิง ข่า ตะไคร้ ผักขะแยง ฯลฯ จำนวน 500 ต้น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ดำเนินการรูปแบบ “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ นั่นเอง” นายคมกริช กล่าวปิดท้าย

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน