ปทุมธานี วัฒนธรรมชวนเที่ยวแบบ New Normal วัดบางหลวงแหล่งท่องเที่ยววิถีธรรม

สำนักงานวัฒนธรรมปทุมธานี ชวนเที่ยวแบบ New Normal วัดบางหลวงเมืองปทุมธานี แหล่งท่องเที่ยววิถีธรรม
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยรอบที่สองเริ่มดีขึ้น เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นำโดยนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี จึงอยากเชิญชวนท่องเที่ยววิถีธรรม แบบ New Normal ที่วัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี

วัดบางหลวง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นวัดโบราณที่มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี การที่ได้ชื่อว่า “บางหลวง” นั้น มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าสมัยที่สมเด็จพระเอกาทศรถได้โปรดให้ขุดคลองลัดเตร็จใหญ่ขึ้นใน พ.ศ. 2151 นั้น ได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งซึ่งชาวบ้านช่วยกันเอาซ่อนไว้ที่วัดบางหลวงนอก เรียกว่าบังไม่ให้หลวงเห็น จึงพูดกันติดปากว่า “บังหลวง” หรือวัดบังหลวง แล้วกลายเป็น “บางหลวง” เมื่อเวลาผ่านไป จนทุกวันนี้ หลวงพ่อเพชรองค์นี้ก็ยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดบางหลวงและเป็นพระพุทธรูปที่มือขยับบิดไปบิดมาได้ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ มีพุทธศาสนิกชนพากันมาเคารพสักการะกราบไหว้กันอยู่เสมอ พอถึงเทศกาลงานประจำปี วันแรม 4 ค่ำ เดือน 11 จะมีประชาชนมากราบไหว้นมัสการกัน มากมิได้ขาด จนล่ำลือไปทั่ว จนชาวบ้าน พูดกันติดปากว่า “บางหลวงไหว้พระ” เป็นที่รู้จักกันโดยพฤตินัยกันทั่วไป

พระมหาถาวร ถิรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดบางหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองปทุมธานี เปิดเผยว่า พระรามัญมุนี ( สุทธิ์ ญาณรสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหลวง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้บันทึกไว้ เมื่อ พุทธ ศักราช 2451 ว่า “วัดบางหลวงใน หรือวัดบางหลวงไหว้พระนี้ แต่ ก่อนมิได้สร้างวัดนี้ เป็นทำเลพงแขม (แขมคือไม้ชนิดหนึ่งคล้ายอ้อ)รก ด้วยหญ้าลัดดาวัลย์ เป็นที่อาศัยของสัตว์จตุบาทวิบาท มีเสือดาว กวางทราย เป็นต้น มีลำคลอง เข้าไปทุ่งนาแห่งหนึ่งเรียกคลองบางหลวง พง ป่ารกชัฏตามริมคลองเป็นที่เปล่าเปลี่ยวผู้ คนไปมา คลองนี้แต่ก่อนกว้างประมาณ 3 – 4 วา และมีจระเข้ตัวเล็ก ๆ ชุกชุม มัจฉา ชาติก็มาก สกุณชาติต่าง ๆ ก็มาก อาศัยอยู่ ตามต้นไม้ พวกพรานเที่ยวสัญจรหาละมั่งกวางทราย จับนกจับปลาไปไว้เป็นภักษาหาร ครั้นมนุษย์มาก ขึ้นความเจริญของภูมิประเทศก็ดีขึ้นทุกขั้น ต่อมาเมื่อประมาณ พุทธศักราช 2246 หรือจุลศักราช 1065 สมเด็จพระสรรเพ็ชรที่ 8 ทรงพระนามเดิม ว่า “พระพุทธเจ้าเสือ” (ดอกเดื่อ) เป็นพระเจ้าแผ่นดินในพระนครศรีอยุธยาทาราวดี คือกรุงเก่าได้ ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นที่ตำบลปากคลองบางหลวง ฝั่งใต้ พระราชทานนามว่า “วัดสิงห์”

ในบันทึกนี้น่าจะเป็นความจริงอยู่มาก เพราะวัดบางหลวงมี 2 วัด คู่ กัน คือ วัดบางหลวงนอก กับวัดบางหลวงใน วัดบางหลวงในคือวัดบางหลวงที่อยู่ปัจจุบันนี้ ส่วน วัดบางหลวงนอกได้ทรุดโทรมปรักหักพังร้าง ไปหมดแล้ว
วัดบางหลวง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ประมาณ 3 กิโลเมตร ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 เดิมชื่อว่า “วัดสิงห์” เป็นวัดที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระอุโบสถทรงไทยโบราณ ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยและภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์มอญ 2 องค์ คือ ทรงชเวดากอง และมุเตา ซึ่งวัดนี้ใช้ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงปัจจุบัน

ภายในวัดมีสิ่งสำคัญหลายอย่าง คือ อุโบสถเก่าที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน ฝาผนังโบสถ์เป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติที่เขียนสีไว้อย่างสวยงาม
เจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์บริวารอยู่สี่ด้าน นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระปทุมธรรมราช พระประจำจังหวัดปทุมธานี จากหลักฐานที่ปรากฏในไมโครฟิล์มกองจดหมายเหตุทำให้ทราบว่าองค์พระพุทธรูปสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2443 หลวงพ่อเพชร พระเก่าแก่ประจำวัด หลวงปู่รามัญมุนี พระสงฆ์ผู้ทรงศีล


พระปทุมธรรมราช เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หล่อด้วยโลหะผสม ปางขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 3 คืบ พระสุคตประมาณ 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ห่มจีวร สังฆาฏิพาดตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สูง 8 นิ้ว ยาว 47 นิ้ว วัดความสูงตลอดถึงเกศ 65 นิ้ว โดยพระศาสนโสภณ (อ่อน) แต่ครั้งยังเป็น พรธรรมไตรโลกาจารย์ วัดพิชยญาติการราม ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ เห็นว่าในเขตปกครองของท่านไม่มีพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองจำดำริกับ พระรามัญมุนี(สุทธิ์ ญาณรังสี) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดบางหลวงในสมัยนั้น พร้อมด้วย พระยาพิทักษ์ทวยหาญ เจ้าเมืองและกรรมการเมือง ร่วมจัดหาทุนทรัพย์ในการหล่อพระพุทธรูปครั้งเมื่อถึงเดือนมกราคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443พระธรรมไตรโลกาจารย์ นำช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปมาจากกรุงเทพฯ โดยทำพิธี ณ โรงพิธี วัดปรมัยยิกาวาส จำนวน 4 องค์ต่อมาได้มีการกำหนดการเททองเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443 ที่วัดบางหลวง สิ้นเงิน 519 บาทเศษ เมื่อทำการแต่งองค์พระเสร็จแล้ว พระธรรมไตรโลกาจารย์ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม พระประจำจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443 นามว่า พระปทุมธรรมราช สืบต่อมา

วัดบางหลวง แห่งนี้ อยากมีโชค ขอพร หลวงพ่อใหญ่ อยากมีชัย ขอพร หลวงพ่อเพชร อยากสำเร็จ ขอพร พระปทุมธรรมราชอยากแคล้วคลาด ขอพร หลวงปู่รามัญมุนี วัดบางหลวง ปทุมธานี
จากนั้นชมความงามของสะพานโค้งบางหลวง เป็นสะพานข้ามคลองบางหลวงศิลปะแบบตะวันตก สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นสะพานคอนกรีต โค้งมน ฐานและเสาสะพานอยู่ที่ทั้งสองฝั่งไม่มีเสากลางสะพาน มีสีขาวสง่างดงาม
ไหว้พระเสร็จแล้วก็มาทำบุญด้วยการให้อาหารปลาคาร์ฟ การให้อาหารปลาคาร์ฟที่วัดบางหลวงแห่งนี้มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือผู้ให้ต้องนำอาหารปลามาใส่ในขวดนมสำหรับเด็ก แล้วจึงนำไปหย่อนให้ฝูงปลาว่ายเข้ามารุมดูดอาหารจากจุกนม จนเกิดเสียงดังจ๊วบจ๊าบ ซึ่งทางวัดได้จัดเตรียม อาหารเม็ดจำหน่ายถุงละ 10 บาท พร้อมขวดนมเปล่าไว้ให้และวัดบางหลวงแห่งนี้ยังมีประเพณีสำคัญคือประเพณีโกนจุกของชาวมอญซึ่งจะมีขึ้นช่วงเทศกาลออกพรรษา และยังเป็นสถานที่ประกวดการบรรยายธรรม ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และสามารถนำหลักธรรมทางศาสนา ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดบางหลวงแห่งนี้ยังเป็น ชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทยอันดีงามที่ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร   นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ทิศทางการท่องเที่ยวชุมชนและวัด ในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักต้องให้ความสำคัญต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง “ชุมชน” ถือเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความเปราะบาง ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ดังนั้น หากยังจำเป็นต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ และการกำหนดมาตรการที่ชุมชน สามารถนำไปใช้เพื่อการวางแผนและการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนที่เหมาะสมได้ คือสร้างความมั่นใจ บนพื้นฐานของความปลอดภัยและสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่มีมาตรการป้องกัน สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว