สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ณ วัดสิริวัฒนาราม จังหวัดนครปฐม

วันนี้ (16 ธ.ค. 63) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ณ วัดสิริวัฒนาราม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นายกเหล่ากาชาดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เฝ้าถวายสักการะ

จากนั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเข้าสู่อุโบสถ ทรงจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย หน้าพระรูปพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และอดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระองค์ที่ 2 ประธานสงฆ์ให้ศีล พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ และสวดมาติกา จากนั้นทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดัปกรณ์ และอนุโมทนา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประสูติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2402 เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุล ชมพูนุท ดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราชไทยเป็นพระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกอยู่ 16 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480 สิริรวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา ดำรงสมณเพศได้ 59 พรรษา

พระองค์มีพระปรีชาสามารถทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง นับว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์ตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก นิทานต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้ ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรมาจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน และทรงเป็นกรรมการชุดแรกของมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 สุดท้ายได้เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 ตราบจนสิ้นพระชนม์ นอกจากนี้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ พระองค์ที่ 2 ประทานคาถาภาษาบาลีเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจบรรดาครูและนักเรียนว่า “วิริเยน ทุกขมจฺเจติ” แปลว่า “คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร” และได้ประทานตรา “ชส” ซึ่งเป็นพระนามย่อของพระองค์ให้แก่โรงเรียน ซึ่งปัจจุบัน ได้เป็นสัญลักษณ์บนเข็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนแห่งนี้

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ภาพ/ข่าว