สมุทรสาคร นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย วอนรัฐช่วยหนุนโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย วอนรัฐช่วยหนุนโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2563นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมนอกน่านน้ำไทย เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี 2563 ณ ห้องประชุม บริษัทอนุสรณ์มหาชัยซูริมิ จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยในที่ประชุมได้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “โอกาสความเป็นไปได้ในการทำประมงนอกน่านน้ำ และกรมประมงจะส่งเสริมและสนับสนุนการทำประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างไร” โดย ดร.สุทธินี ลิมธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำ และการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง


นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยว่า สำหรับสภาพปัญหาของผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทยในปัจจุบันคือ เรื่องของกฎและหลักการปฏิบัติที่สลับซับซ้อน ยุ่งยาก และเข้มข้นมากเกินไป จึงควรที่จะมีการปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง รวมถึงโทษค่าปรับที่รุนแรงมาก จนกลายเป็นปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ที่จะต้องมีการคำนวณถึงความคุ้มทุนว่า สมควรที่จะกลับไปลงทุนเพื่อทำการประมงอีกครั้งหรือไม่ เพราะบางครั้งเป็นการกระทำผิดโดยไม่ตั้งใจแต่ถูกปรับด้วยโทษที่รุนแรงมากและไม่ได้ส่งผลเฉพาะเรือลำที่ถูกจับ แต่ส่งผลถึงเรือทุกลำที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ส่วนอีกเรื่องคือ เงินทุนในการปรับปรุงเรือและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อที่จะนำเรือกลับออกมาเดินทะเลอีกครั้ง ซึ่งต้องใช้เงินทุนในจำนวนที่ค่อนข้างสูง เพราะเรือจอดมานานจนกลายเป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของเงินกองทุนสินเชื่อเพื่อชาวประมงนอกน่านน้ำ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ จึงต้องการให้รัฐหันกลับมาหาแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของโครงการนำเรือออกนอกระบบ (รับซื้อเรือคืน) เนื่องจากสมาชิกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เป็นอย่างมาก ถูกริดรอนสิทธิการทำประมง และไม่สามารถออกไปทำการประมงได้ รวมทั้งต้องรับภาระใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการหยุดทำการประมง เช่น ค่าที่จอดเรือ ค่าคนเฝ้าเรือ ค่าไฟฟ้า ค่า VMS ฯลฯ ดังนั้นจึงขอให้ภาครัฐรับมอบตัวเรือที่มีการตรวจสอบไปแล้ว พร้อมทั้งออกเอกสารหลักฐานที่สามารถนำไปค้ำประกันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กับสถาบันการเงินได้ เพื่อให้สมาชิกสมาคมสามารถนำเงินมาหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ก่อนที่งบประมาณใหม่จะออกเพื่อช่วยเหลือชาวประมงนอกน่านน้ำไทย ที่แต่เดิมก่อนปี 2558 มีอยู่มากกว่า 800 ลำ ต่อมายุค คสช.เหลือเรือทำประมงนอกน่านน้ำอยู่ 77 ลำ และเมื่อเจอข้อบังคับของ IUU Fishing ทำให้เรือประมงนอกน่านน้ำทุกลำต้องกลับเข้าฝั่งไทย กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรือประมงไทยจำนวน 6 ลำ ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียได้ ส่วนที่เหลือยังคงรอการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย และมาตรการผ่อนปรนในแนวทางปฏิบัติด้วย


นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยอีกว่า ส่วนทางด้านของสถานการณ์โควิด – 19 นั้น ก็ส่งผลกระทบกับประมงนอกน่านน้ำคือ เมื่อเรือประมงจับสัตว์น้ำแล้วนำกลับเข้าประเทศ แต่ปรากฏว่า สถานประกอบการในประเทศไม่สามารถแปรรูปส่งออกได้ หรือส่งออกได้ในจำนวนจำกัดและลดน้อยลง ก็ทำให้เกิดภาวะขาดทุน อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงานด้วย จึงต้องการให้รัฐเร่งหาแนวทางแก้ไข รวมถึงโครงการพัฒนาศักยภาพการทำประมงทะเลน้ำลึก เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะทำการประมงในเขตทะเลน้ำลึก รวมทั้งองค์ความรู้ในการหาแหล่งทำการประมง การใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนงานวิชาการเพื่อพยากรณ์สภาวะความเปลี่ยนแปลงของประชากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจการประมง จากการทำประมงทะเลน้ำลึก จึงเห็นสมควรว่า กรมประมงควรส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมบูรณาการทำการสำรวจ วิจัย ทรัพยากร สัตว์น้ำและแหล่งทำการประมงในเขตทะเลน้ำลึกภายในบริเวณทะเลอาณาเขตเศรษฐกิจจําเพาะ (EEZ) ของประเทศไทย โดยเฉพาะการทำประมงน้ำลึก โดยมีความลึกตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ประเทศไทยกลับมามีความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองเหมือนดังก่อน


ดร.สุทธินี ลิมธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำ และการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า จากการที่ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะเสื่อมโทรมและมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศเจ้าของทรัพยากรหลายประเทศที่เคยเป็นเป็นแหล่งทำการประมงนอกน่านน้ำของไทยออกนโยบายไม่อนุญาตให้นำเรือประมงต่างชาติเข้าไปทำการประมง (โดยเฉพาะเครื่องมืออวนลาก) หรือในกรณีที่ อนุญาตให้สามารถนำเรือเข้าไปทำการประมงได้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่รัฐชายฝั่งกำหนดอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้การประมงนอกน่านน้ำชะลอการขยายตัวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการเจรจาหารือกับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณาให้สิทธิ์กองเรือประมงไทยเข้าไปทำการประมง โดยปัจจุบันมีกองเรือที่ได้รับอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน 6 ลำ
ขณะที่ในด้านมาตรการควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำ กรมประมงในฐานะรัฐเจ้าของธงมีการกำหนดมาตรการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังพฤติกรรมการเดินเรือและพฤติกรรมการทำประมงตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการควบคุมกระบวนการตั้งแต่เรือแจ้งออกจากท่าเทียบเรือ ในขณะทำการประมงและการขนถ่ายกลางทะเล จนกระทั่งการแจ้งกลับเข้าท่าและขึ้นสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือของไทยให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบการทำประมงภายใต้องค์กรการจัดการประมงระดับภูมิภาค หรือรัฐชายฝั่งอื่น เพื่อป้องกันการทำประมง IUU โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้กรมประมงยังได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือร่วมออกเดินทางไปกับเรือเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงตั้งแต่ออกเดินทางจากไทยจนกระทั่งกลับไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ SIOFA เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังเกตการณ์พฤติกรรมการทำประมงของเรือนอกน่านน้ำ ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งเป็นช่องทางในการป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม


ดร.สุทธินีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งการออกทำการประมงนอกน่านน้ำจะมีระยะเวลานาน ทางกรมประมงได้แจ้งให้เจ้าของเรือประมงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 อย่างเคร่งครัด โดยกำชับให้เจ้าของเรือประมงจะต้องมีการคัดกรองลูกเรือก่อนการลงเรือ หากพบว่าลูกเรือรายใดมีอุณหภูมิสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด ให้ชะลอการลงเรือและแจ้งให้ไปตรวจพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังได้แจ้งแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขลักษณะเรือและอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ภายในเรือ อาทิ การทำความสะอาดตัวเรืออย่างสม่ำเสมอ การจัดให้มีระบบระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในเรือที่เหมาะสม สถานที่ปรุงอาหาร จะต้องทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรจัดเตรียมแอลกอฮอล์ หรือเจลทำความสะอาดมืออย่างเพียงพอในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่มีการสัมผัสร่วมกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคภายในเรืออีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลของเรือประมงที่จะออกทำการประมงนอกน่านน้ำ ได้อย่างสอดคล้องกับระเบียบและมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยการดำเนินการดังกล่าวนับเป็นการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำประมงนอกน่านน้ำได้อย่างเป็นระบบซึ่งผลที่ให้เห็นชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ ขณะนี้เรือประมงนอกน่านน้ำของไทยสามารถออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้เห็นว่านานาประเทศมีความเชื่อมั่นในการทำการประมงของเรือประมงไทยว่ามีระบบการบริหารจัดการการทำประมงนอกน่านน้ำที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นโอกาสเริ่มต้นที่ดีของเรือประมงไทย ที่จะได้มีโอกาสแสวงหาแหล่งทำการประมงใหม่ๆ นอกน่านน้ำไทย
ชูชาต แดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร