สมุทรสาคร ผู้ว่าฯ เร่งหาทางเยียวยาแรงงานไทย – ต่างด้าว 80 ชีวิต ถูกนายจ้างลอยแพ

ผู้ว่าฯ เร่งหาทางเยียวยาแรงงานไทย – ต่างด้าว 80 ชีวิต ถูกนายจ้างลอยแพ ตัดน้ำตัดไฟ ปักหลักอดทนเฝ้ารอเงินชดเชย
เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 06 พฤษภาคม 2563 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน,นายเย ยัน อ่าว ทูตแรงงานเมียนมา,ผู้แทนของกระทรวงแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประกอบด้วย แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร , สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด,ประกันสังคมจังหวัด,จัดหางานจังหวัด และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจแรงงาน,ปกครองอำเภอกระทุ่มแบน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่พบกับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวรวม 75 ครัวเรือน หรือประมาณ 80 ชีวิต เป็นแรงงานเมียนมาราวๆ 67 คน และแรงงานไทย 13 คน ซึ่งเป็นพนักงานและพักอาศัยอยู่ในหอพักของบริษัท ดี-คลาส (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 109/30 หมู่ 5 ถนนเศรษฐกิจ ตำบลคลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยทั้งหมดถูกเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม (ลอยแพ) เนื่องจากบริษัทปิดตัวลงอย่างกะทันหันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เหตุผลเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริหารงานของทางบริษัทฯ ก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะโควิด-19 แต่ได้พยายามที่จะพยุงมาจนสิ้นสุดการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา โดยทั้งบริษัทและหอพักที่พนักงานพักอยู่ก็โดนตัดน้ำ ตัดไฟ ทำให้ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้และจุดเทียนไขแทนไฟฟ้า ส่วนเรื่องของอาหารก็ยังเป็นโชคดีที่พอจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆในท้องที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผลัดเปลี่ยนกันนำอาหารมาแจกให้บ้าง ซึ่งก็พอจะใช้ประทังชีวิตไปได้ในช่วงที่ยังพอมีความหวังว่าจะได้เงินชดเชยจากทางบริษัท

นางสาวกุสุมา ตั้งศรีทรัพย์ อายุ 34 ปี สาวเมืองสุพรรณบุรี อดีตพนักงานบริษัทฯ เล่าว่า ตนเองและสามีเป็นพนักงานของโรงงานแห่งนี้ทำงานกันมานานเกือบ 10 ปี แต่ตนลาออกมาก่อนที่จะเกิดเรื่องขึ้น เพราะต้องมาเลี้ยงลูกแต่ก็ยังคงขอเช่าพักอาศัยอยู่ที่หอพักของโรงงาน ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะทำเกี่ยวกับการประกอบรถประเภทต่างๆที่ใช้ในราชการ โดยสัญญาณเตือนนั้นมีมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เริ่มจากที่ทางบริษัทเอาเครื่องสแกนนิ้วออก ให้ใช้การเซ็นชื่อ แต่บางครั้งก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มารับเซ็นชื่อ และวันที่ 16 เมษายน ก็มีการสั่งยุบแผนกทำสี พอหลังจากนั้นก็มีการสั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายน 2563 เพราะไม่มีงานสั่งเข้ามา เมื่อเปิดงานวันที่ 16 เมษายน 2563 พนักงานที่เข้ามาทำงานก็พบว่า ที่บริษัทตัดน้ำ ตัดไฟหมดแล้ว และไม่มีการทำงานใดๆ หลายคนจึงทราบว่า พวกตนน่าจะโดนลอยแพแล้ว จึงได้มีการแจ้งไปยังหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเพื่อร้องเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้น

 

นางสาวกุสุมา บอกอีกว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้มีการแจ้งว่าจะชดเชยเงินให้ โดยจะจ่ายให้กับพนักงานในช่วงเดือนมิถุนายน แต่ทุกคนก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินก้อนนี้จริง เพราะก่อนหน้านั้นทางบริษัทไม่ได้มีการส่งเงินประกันสังคมให้กับพนักงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 การจ่ายเงินเดือนก็ไม่ตรงเวลา จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง และครึ่งเดือนหลังในเดือนมีนาคมก็จ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าด้วย จึงทำให้ทุกคนยังไม่ยอมไปไหน เฝ้ารอความคืบหน้าและอาศัยอยู่ที่หอพักแม้ว่าจะไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยหลายคนกลัวว่า หากเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดก็จะโดนกักตัวถึง 14 วัน แล้วถ้าหากที่นี่มีอะไรเกิดขึ้น หรือนายจ้างยอมจ่ายเงินให้ ก็จะไม่สามารถเดินทางมาได้ ทุกคนจึงขออยู่ตรงนี้เพื่อทราบความชัดเจนและรอเงินชดเชยเพื่อนำกลับไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพใหม่ที่บ้านเกิด ส่วนการใช้ชีวิตในทุกวันนี้ ก็ต้องซื้อน้ำมาดื่ม รวมถึงน้ำที่ใช้อาบกับชำระล้างสิ่งสกปรกก็ได้รับความช่วยเหลือจากทางเทศบาลคลองมะเดื่อ โดยจะเอามาใส่บ่อพักแล้วคนงานในหอก็มาตักไปใช้กัน ขณะที่ไฟฟ้านั้นก็ต้องใช้เทียนไขแทน การหุงหาอาหารก็กินกันแบบพอมีพอกินเท่าที่มีอยู่ ใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สหุงข้าว – ทำกับข้าวแทน ส่วนที่นอนก็ยกลงมาข้างล่างเพราะไม่สามารถนอนในห้องได้เนื่องจากอากาศร้อนจัด แต่ก็ต้องทนกับยุงกัดกันบ้างด้วยด้านหลังอาคารมีคลองที่น้ำเน่าเสีย จึงทำให้มียุงชุกชุม ซึ่งความยากลำบากนี้ทำให้บางครอบครัวต้องส่งลูกหลานกลับไปอยู่กับญาติที่บ้านเกิดก่อน ส่วนพ่อแม่ก็ปักหลักรอเงินชดเชยจากทางบริษัทฯต่อไป
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือจากทางจังหวัดสมุทรสาครและทูตแรงงานเมียนมาในเบื้องต้นนี้ นอกจากจะเข้ามารับทราบปัญหาเพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการหาสถานที่ทำงานใหม่ การแจ้งเปลี่ยนนายจ้างในแรงงานต่างด้าวและการให้ลูกจ้างได้เข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือต่างๆอย่างเป็นธรรมแล้วนั้น ทางกาชาดจังหวัดสมุทรสาครก็ยังได้จัดชุดถุงยังชีพเข้ามามอบให้อีกด้วย
ชูชาต แดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร