สมุทรสาคร ลุยตรวจโควิด-19 แรงงานเรือประมง เพิ่มมาตรการเชิงรุก

ลุยตรวจโควิด-19 แรงงานเรือประมง เพิ่มมาตรการเชิงรุกสมุทรสาครโมเดล
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 02 พฤษภาคม 2563 ทีมเจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (เชิงรุก) ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเรือประมง ที่องค์การสะพานปลา ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยนำแรงงานที่เรือประมงเพิ่งเข้าฝั่ง ขึ้นมาสุ่มตรวจหาเชื้อค้นหาเชิงรุก ด้วยการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย ซึ่งการสุ่มตรวจฯ แรงงานในเรือประมงครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่จำนวน 60 ราย จากนั้นก็จะนำน้ำลายส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR โดยการ pool sample ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 – 2 สัปดาห์นี้ และในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างวันนี้ ก็ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากจังหวัดนครปฐม ,สาธารณสุขนครชัยศรี , สาธารณสุขกำแพงแสน และสาธารณสุขสามพราน มาศึกษาตัวอย่าง วิธีการ ขั้นตอนการจัดเก็บด้วย เพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่จังหวัดนครปฐม ที่จะต้องดำเนินการในอีกไม่นานนี้

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR โดยการ pool sample จะช่วยประหยัดงบได้ถึงร้อยละ 67 เป็นการสุ่มตรวจหาเชื้อตามหลักระบาดวิทยาครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนเป็นต้นมา มีเป้าในช่วงแรกรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,100 ตัวอย่าง ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการมาแล้ว 5 วัน นับแต่วันที่ 27 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2563 เก็บตัวอย่างไปแล้วทั้งหมด 1,748 ตัวอย่าง แบ่งเป็น พื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร 1,295 ตัวอย่าง , อำเภอกระทุ่มแบน 318 ตัวอย่าง,อำเภอบ้านแพ้ว ยังไม่ได้จัดเก็บ แต่มีกำหนดการดำเนินการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 จำนวน 150 ตัวอย่าง และ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 135 ตัวอย่าง คงเหลือที่ต้องจัดเก็บอีกประมาณ 400 ตัวอย่าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้านี้ โดยปฏิบัติการเก็บตัวอย่างน้ำลายในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวน 2,100 ตัวอย่างนี้ ก็เป็นไปตามมาตรการค้นหาเชิงรุก “สมุทรสาครโมเดล” สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2


นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครมีตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 268,084 คน การดำเนินงานภายใต้ปฏิบัติการ “สมุทรสาครโมเดล” เป็นการค้นหาเชิงรุก ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้เราพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชนต่างด้าวได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่พบผู้ติดเชื้อ ก็นับเป็นโชคดีของจังหวัดสมุทรสาคร แต่ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อจริงก็ถือว่าเป็นโชคดีเช่นกัน ที่จะได้นำตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาและการควบคุมโรคอย่างทันท่วงที เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 และยังช่วยให้การควบคุมโรคอยู่ในวงจำกัดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ด้านนายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร บอกว่า ทุกวันนี้ทางสมาคมการประมงสมุทรสาครได้มีมาตรการสำหรับการป้องกันโควิด-19 ในแรงงานเรือประมง ด้วยการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้เรือแต่ละลำปฏิบัติตาม เช่น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งทั้งที่อยู่ในเรือ และเวลานำสินค้าเข้าฝั่ง,สวมเฟสชีล และการดูแลสุขอนามัยของแรงงานทุกคนในเรือประมง ทั้งกินร้อน และการใช้เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น ขณะที่เมื่อนำสินค้าขึ้นฝั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ไต๋เรือ หรือเจ้าของเรือดูแลแรงงานในเรือประมงด้วยการให้นอนพักในเรือ ไม่ให้ขึ้นมาบนฝั่งถ้าไม่จำเป็น เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโควิ-19 อีกทางหนึ่ง
ชูชาต แดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร