น.ศ.วิทยาลัยเพาะช่าง ชวนชม 30 Loading นิทรรศการภาพถ่ายที่มีความหมายมากกว่าการถ่ายภาพ

น.ศ.วิทยาลัยเพาะช่าง ชวนชม  30 Loading นิทรรศการภาพถ่ายที่มีความหมายมากกว่าการถ่ายภาพ

นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จัดนิทรรศการ 30 Loading ขึ้นระหว่างวันที่ 18-23 กุมภาพันธ์ 2563  ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยภายในงานมีการโชว์ผลงานภาพถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจากนักศึกษาและอาจารย์ในสาขาวิชา โดยมีนักศึกษาถ่ายภาพรุ่นที่ 30 เป็นกำลังหลักในการจัดงาน

นายวรายุทธ พรหมดวง (ปลื้ม) ประธานรุ่น 30 กล่าวว่า งานนี้เป็นการต่อยอดจากการทำศิลปะนิพนธ์ของพวกเรา พวกเราเคยได้ลองผิดลองถูกและมีประสบการณ์จากการจัดนิทรรศการและดำเนินการประชาสัมพันธ์งานมาแล้วตอนปี 3 พอมาปี 4 ทำให้พวกเราทำงานง่ายขึ้น ทุกคนแบ่งหน้าที่และรับผิดชอบร่วมกัน ได้ประสบการณ์ในการติดต่อประสานงานทั้งภายใน ทั้งในทีมผู้จัดงาน และคณาจารย์ ผู้บริหาร รวมทั้งได้ติดต่อประสานงานกับเอกชนภายนอกซึ่งตอบรับให้การสนับสนุนการจัดงานของพวกเรา สำหรับผลงานจะมีให้ชมหลากหลายมากครับ

 

 

 

ผลงานของผม เป็นวิดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์หน้าที่การทำงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่ใส่ชุดสีแตกต่างกันจะมีหน้าที่ต่างกัน วิดีโอนี้จะทำให้เข้าใจการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งทั้ง 4 หน้าที่ คือ 1.อาสาสมัครกู้ภัย 2.เจ้าหน้าที่กู้ชีพ 3.เจ้าหน้าที่กู้ภัย 4.เจ้าหน้าที่น.เขต  ซึ่งจะทำให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบถึงการทำงานอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อสังคม ผมเลือกทำเรื่องนี้เพราะตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในอาสาสมัครของมูลนิธิครับ

นางสาววรรษชล เที่ยงแท้ หรือฝน  บอกว่าผลงานของหนูชื่อ ขั้นตอนการทำบาตร การทำบาตรพระ มีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและใช้ความอดทนสูง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้การทำบาตรพระด้วยมือเริ่มเลือนหายไปเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตต่อไปหากไม่มีผู้ต่อยอด ภูมิปัญญาการทำบาตรนี้ก็สูญหายไปในที่สุดด้วยเหตุนี้จึงหยิบยกเรื่องราวของขั้นตอนการทำบาตรมานำเสนอผ่านภาพถ่ายและเก็บรวบรวมไว้ในรูปแบบหนังสือ

 

ทักษพร ทองประจักษ์ (จ๋า) เลือกนำเสนอผลงานภาพนิ่งเกี่ยวกับ ชีวิตดั้งเดิมคุ้งบางกะเจ้า ด้วยเหตุว่าหนูเองได้เติบโตมาในชุมชนนี้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนเรื่อยมา เลยอยากถ่ายภาพเก็บเป็นความทรงจำ สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชนก่อนที่บางกะเจ้ายังไม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว เพื่อให้คนรุ่นหลังเห็นถึงความเรียบง่ายเเบบดั้งเดิมของคนในชุมชนว่าเขาเคยใช้ชีวิตเเบบไหนมาก่อน

 

 

ปิดท้ายด้วยผลงานของ ผศ.ดร.ชลิดา ทรงประสิทธิ์ ที่บอกถึงที่มาแรงบันดาลใจเกี่ยวกับผลงานว่า เป็นการแสดงมโนทัศน์ของหลักคำสอน “สะอาด สว่าง สงบ” ของท่านพุทาสภิกขุ มุ่งเน้นการนำเสนอหนทางแห่งการพ้นทุกข์ด้วยองค์ประกอบของ “จิตว่าง”   โดยมีจุดมุ่งหมายของการบำบัดจิตใจด้วยการถ่ายภาพ (Phototherapy)  ที่เป็นการสื่อสารด้วยภาพในรูปแบบ “สัญลักษณ์” เชื่อมโยงกับแนวความคิด “จิตว่าง”  ภายใต้แนวคิด 3 ธรรม จะพบความหมายที่นำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียด  มีความสงบ จนเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และก่อให้เกิดสุนทรียะ  แนวคิด 3 ธรรม  1.ธรรมะ : สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา  2.ธรรมชาติ: ทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น   3.ธรรมดา :กระบวนการการถ่ายภาพ การแต่งภาพ การสร้างเทคนิคพิเศษ (effect) โดยเลือกใช้กล้องสมาร์ทโฟน (iPhone)และ Application จากiPhone  อันเป็นความจริงแท้อันสูงสุด (Absolute Reality) ที่ผ่านการตีความหมายจากผู้วิจัย เป็นการนำเสนอความหมายแสดงนัยที่แฝงอยู่ในผลงาน    ผลงานทั้งหมดที่หยิบยกมานำเสนอครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะงานนี้มีนักศึกษาร่วมแสดงทั้งหมด 46 คน และคณาจารย์จากสาขาอีกหลายท่าน งานดีๆ เด็ดๆ มีอีกเยอะอุบเก็บไว้ให้ไปชมเองในงาน และขอเชิญร่วมพิธิเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16.00 น. ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน