พาณิชย์ตรังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วย”

พาณิชย์ตรังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วย”เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า และ บัญชีและภาษีเงินได้สำหรับร้านค้าโชวห่วย
ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อ.เมืองตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วย” นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดตรัง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการพัฒนาร้านค้าโชวห่วย โดยการปรับรูปแบบร้านค้าปลีก พัฒนาระบบการบริหารจัดการร้านค้า ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพื่อบริหารร้านค้าปลีกสู่ Smart โชวห่วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของไทย (Local Economy)ข้อมูลจากการสำรวจ ในปี 2562 พบว่า มีร้านค้าปลีกโชวห่วยทั่วประเทศ จำนวน 443,123 ร้านค้า แบ่งสัดส่วนเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34% ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% กรุงเทพและปริมณฑล 13% และ ภาคใต้ 15% โดยจังหวัดตรัง มีร้านค้าโชวห่วย ทั้งหมดประมาณ 10,000 ร้านค้า ด้วยสภาวะการตลาดของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านรูปแบบการแข่งขัน การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค ร้านค้าโชวห่วยในท้องถิ่นจึงต้องปรับตัวให้สามารถตอบสนองความต้องการ ของผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการจัดร้านเป็นระบบทันสมัย อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้าได้ง่าย นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับร้านค้า เช่น เครื่อง POS ช่วยในการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า การทำบัญชี รายรับรายจ่าย การจำหน่ายสินค้าชุมชน เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นอัตลักษณ์ให้กับร้านค้ามีบริการเสริมเพิ่มรายได้ อาทิ รับชำระค่าบริการต่างๆ Drop Point สำหรับการอบรม “พัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วย”


สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วยในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า และ บัญชีและภาษีเงินได้สำหรับร้านค้าโชวห่วย ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการ Smart โชวห่วย” ที่มีเป้าหมาย เพื่อปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ส่งเสริมการตลาดและบริการเสริม เพิ่มรายได้ เสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ร้านค้าโชวห่วยเป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน กลุ่มเป้าหมายเป็นร้านค้าโชวห่วยในเขตจังหวัดตรังและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 100 ร้านค้า ซึ่งการอบรมในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วย ผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 114 ราย ทั้งนี้ ร้านค้าโชวห่วย มีความสำคัญต่อกระบวนการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเรา เพราะเป็นแหล่งรวงรวม และจุดอำนวยความสะดวกในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อสินค้านอกพื้นที่ของคนในชุมชน ตลอดจนเป็นช่องทางกระจายสินค้าของผู้ประกอบการชุมชนผู้ผลิตสินค้า SME และ OTOP ในแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ร้านค้าโชวห่วยโดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก กำลังเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง