พช. สภาสตรีฯ ปลื้มลงนาม MOU รณรงค์ใส่ผ้าไทย 62 จังหวัดใน 100 วัน

พช. สภาสตรีฯ ปลื้มลงนาม MOU รณรงค์ใส่ผ้าไทย 62 จังหวัดใน 100 วัน เดินหน้าสู่เป้าหมาย 1 แสนล้านบาท

นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 ถือเป็นวันเริ่มต้นการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้ “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ถึงวันนี้ ช่วงเวลา 100วันเดินหน้ารณรงค์ลงนาม MOU แล้ว 62 จังหวัด ผนึกพลัง ร่วมใจสวมใส่ผ้าไทย นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด องค์กรสตรี สถานศึกษา องค์กรภาคเอกชน สมาคม ชมรม ตลอดจนเครือข่ายระดับจังหวัด กลุ่มองค์กร และผู้นำกลุ่มสตรี นอกจากนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ใกล้ที่จะลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมใจรณรงค์คนไทยร่วมใจสวมใส่ผ้าไทยใกล้ครบ76 จังหวัด ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกท่านผู้ส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคีเครือข่าย ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การร่วมมือร่วมใจสวมใส่ผ้าไทย สำคัญที่สุดคือการได้สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ที่พระราชทานพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 มีใจความสำคัญว่าพระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ให้ชาวโลกได้ชื่นชม และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของผู้หญิง หากว่าคนไทยเพียง 35 ล้านคนร่วมใจใส่ผ้าไทยทุกวัน และทุกคนซื้อผ้าไทยเพิ่มคนละ 10 เมตรๆละ300 บาท สามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้กว่า 1 แสนล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายสร้าง “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้ในปี 2565”นับเป็นภารกิจที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องในชุมชน การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยในช่วงระยะเวลา ที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งในในส่วนผู้บริโภค และผู้ผลิต จากที่ได้รับรายงานพบว่าแต่ละจังหวัดมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คนทอผ้า คนตัดเย็บ คนขายผ้า ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP นับเป็นเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจฐานรากที่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับครัวเรือน และระดับชุมชน รายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายผ้าทอมือ ช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิต ส่งบุตรหลานให้มีโอกาสเล่าเรียน ดูแลครอบครัวได้เมื่อยามเจ็บป่วย สร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความมั่นคง พึ่งตนเองได้

ด้านผู้ประกอบการ OTOP คุณเฉลิมศรี คันธา ชาวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากการรณรงค์ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ทำให้ตลาดผ้าไทยในจังหวัดเชียงใหม่ มีความคึกคักขึ้นกว่าแต่ก่อน มีการนำวัตถุดิบพื้นบ้านมาใช้มากขึ้น และมีการสืบสานภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาถ่ายถอดการเรียนรู้พื้นบ้าน จากผ้ารุ่นสู่รุ่น และทางศูนย์จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ได้เปิดโรงเรียนโอทอปสอนเยาวชนในการทอผ้า และประยุกต์ให้มีความทันสมัยสามารสวมใส่ผ้าไทยได้ทุกเพศทุกวัย สำหรับยอดจำหน่ายผ้าในช่วงที่มีการรณรงค์ทำให้ยอดขายดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ได้เปิดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ผลตอบรับดี พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนคนไทยหันมาสวมใส่ผ้าไทยให้มากขึ้นในทุกวาระโอกาส

คุณดลตวรรณ มณีจันทร์ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี วัดนาหนอง อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี กล่าวว่า การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยเป็นการอนุรักษ์ศิลปะหัตถกรรมของชนไทยญวนเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ ช่วยเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน เพราะบางชุมชนจะใช้อาชีพนี้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

ในส่วนของภาคใต้ ผู้ใหญ่วิไล จิตรเวช จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่าโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ทำให้คนที่ทอผ้าได้มีอาชีพเสริมที่มั่นคงขึ้น และได้เห็นคนใส่ผ้าไทยเพื่ออนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไว้ เช่นผ้ายกนคร ผลจากการรณรงค์ทำให้ขายผ้าได้เพิ่มขึ้นทำให้มีกำลังใจ แม้ผู้ชายก็หันมายึดอาชีพทอผ้า พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้มีโครงการดีๆอย่างนี้ และขอให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมของชาวไทยและมีอาชีพให้ลูกหลานต่อไป