ปทุมธานี Pathum Thani Market 4.0เชื่อมตลาดในประเทศ สู่ตลาดการค้าโลก

Pathum Thani Market 4.0เชื่อมตลาดในประเทศ สู่ตลาดการค้าโลก
จังหวัดปทุมธานีเป็นเมืองตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของประเทศ เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญด้านการตลาด เปรียบเสมือนท่อลำเลียงอาหาร กระจายสู่ผู้บริโภคในประเทศพร้อมทำหน้าที่ขับเคลื่อนรายได้ ด้านตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคอาหาร ผัก ผลไม้และสินค้าอื่น ๆ ทำให้มีรายได้เป็นอันดับ 6 ของประเทศ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี ประชาชนในจังหวัดมีรายได้ต่อหัวเป็นอันดับ 12 ของประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Province Product : GPP) 380,688 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้ ภาคอุตสาหกรรม มูลค่า 202,786 ล้านบาท และการขายส่งขายปลีกมูลค่า 65,358 ล้านบาท
จังหวัดปทุมธานีเป็นที่ตั้งของตลาดส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าการเกษตรระดับประเทศรวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยมีตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้าที่นำเข้าจากเกษตรกรและผู้ผลิตจากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาตรฐานมากกว่า 20 แห่ง ทั้งตลาดค้าส่ง ค้าปลีก ตลาดเชิงท่องเที่ยวและอนุรักษ์ พร้อมทั้งมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สามารถจัดเก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่ายและส่งออก ซึ่งตลาดที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ อาทิ ตลาดไท / ตลาดสี่มุมเมือง / ตลาดไอยรา

คุณอดิศร์ ภัทรประสิทธิ์ ผู้อำนวนการฝ่ายการค้า บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ จำกัด หรือ ตลาดไท กล่าวว่า ตลาดไท เป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 42 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ 542 ไร่ ด้วยศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศทำให้ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเดินทางเข้าสู่ตลาดไทได้อย่างสะดวกสบายหลายเส้นทาง มีประชากรหมุนเวียน 100,000 คนต่อวัน และเป็นแหล่งสำคัญในการรวบรวมและกระจายสินค้าทางการเกษตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลาดไทเป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือในภาคธุรกิจในด้านสถานการณ์สินค้าเกษตร โดยมีมูลค่าการค้าต่อวัน 500 – 600 ล้านบาทและมูลค่าการค้าต่อปี 180,000 ล้านบาททั้งยังเป็นตลาดสินค้าการเกษตรใหญ่ที่สุดในประเทศ มีตลาดค้าปลีกและค้าส่งสินค้าทางการเกษตรหลากหลายทั้งพืชผลไม้นำเข้าและส่งออก ตลาดไทแบ่งโซนตามประเภทของสินค้าอย่างชัดเจนถึง 21 ตลาดย่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถหาซื้อสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรได้ง่ายด้วยราคาที่เป็นธรรม ซื้อขายสินค้าในที่เดียวครบทุกประเภท ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ไทยและผลไม้ต่างประเทศ ผักปลอดภัย (GAP) ผักทั่วไป เนื้อสัตว์ ปลาน้ำจืด อาหารทะเล พืชไร่ ข้าวสาร ดอกไม้ ต้นไม้ หรือแม้แต่สินค้าไอที อุปกรณ์ประดับยนต์ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ตลาดไทเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุดใน

ด้าน ดร.จรูญ ชำนาญไพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง เปิดเผยว่าตลาดสี่มุมเมือง เป็นตลาดกลางการค้าและศูนย์กระจายสินค้าทางการเกษตรระดับประเทศ ได้ผ่านการรับรองให้เป็นตลาดสดน่าซื้อจังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่องมากว่า 8 ปี ตั้งอยู่ที่ซอย 77 ถนน พหลโยธิน ตำบล คูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เปิดทำการค้าต่อเนื่องตลอด24ชั่วโมง มีลูกค้าหมุนเวียนวันละมากกว่า 30,000 คน เป็นตลาดค้าผักผลไม้ชั้นนำที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย โดยสินค้าจำหน่ายส่งออกหลักของตลาด อาทิ ผักต่าง ๆ ผลไม้สด อาหารทะเลสด เนื้อสด และอาหารแห้ง ตลาดสี่มุมเมืองมุ่งในการบริการที่เป็นเลิศ ด้วยสินค้าที่ครบถ้วนปลอดภัย มีมาตรฐาน ด้วยกฎระเบียบการค้าที่ชัดเจนมีรูปแบบการซื้อขายที่รวดเร็วราคาที่ยุติธรรม มีระบบข้อมูลข่าวสารที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ค้า มีความสะดวกสงบเรียบร้อย พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณภาพสินค้าให้มีประสิทธิภาพรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดสี่มุมเมืองเน้นมาตรฐานสินค้า Q smm ว่าด้วยเรื่องขนาดและเกรด มีการจัดรูปแบบมาตรฐานสินค้าที่เป็นสากล สามารถวัดได้มีน้ำหนักที่แน่นอนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ ส่งเสริมการค้า สะดวกรวดเร็ว รองรับการซื้อขายการค้ายุคใหม่ E –commerce ร่วมสร้างมาตรฐานสินค้าเพื่อการค้าที่มั่นคงและพัฒนาสินค้าให้เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขายให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ซื้อขาย โดยแจกบัตรมาตรฐานสินค้าให้ผู้ค้าติดไว้หน้าสินค้าเพื่อลดปัญหาขัดแย้งจากความไม่เข้าใจตรงกันในเรื่องของมาตรฐานสินค้า เช่นการกำหนดขนาดของสินค้า และกำหนดเกรดของสินค้า ขนาด คุณภาพ น้ำหนัก บรรจุภัณฑ์ เครื่องหมายการค้าสำหรับบอกรายละเอียดของสินค้า โดยมาตรฐานสินค้านั้น จะทำให้การตัดสินใจซื้อขายสะดวกรวดเร็วใช้เวลาในการซื้อขายลดลง รวมทั้งยังยุติธรรมทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย


นายชนธัญ เวโรจจนนนท์ ผู้ประกอบการจำหน่ายข้าวโพดรายใหญ่ในภาคกลางและจังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ในการปลูกกว่า 500 ไร่ มีลูกไร่พร้อมผลิตผลผลิตให้ กว่า 4,000 ไร่ และจำหน่ายและส่งออกข้าวโพดมากว่า 50ตันต่อวัน ซิ่งมีแผงค้าทั้งตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดปทุมธานี มีนโยบาย ทำเมืองให้เป็นเมืองตลาด“ปทุมธานีเมืองตลาดของประเทศไทย สู่ตลาดโลก” (Pathum Thani Market 4.0)เรื่องนี้ตนเองและผู้ประกอบการต่างๆสนับสนุนเต็มที่ เพราะจังหวัดปทุมานี เป็นศูนย์กลางที่ติดกับกรุงเทพมหานคร ติดสนามบิน สะดวกต่อการขนส่ง แต่อยากให้ส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับการอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีคุณภาพชั้นนำ โดยอยากให้จังหวัดปทุมธานี ส่งเสริมผลักดันตลาดการค้าออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ เหมือน อาลีบาบา ทำแพล์ตฟอร์ม(Platform) เน้นให้บริการกับเหล่านักลงทุน โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและเลือกลงทุนผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นซึ่งรวดเร็วและอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งสองฝ่าย และสนับสนุน SME ก้าวไปสู่การทำ Cross-Border Trade หรือการค้าข้ามพรมแดน ที่สามารถเชื่อมผู้ค้าและลูกค้า “ทั่วโลก” เข้าด้วยกัน สนับสนุนเรื่องการตั้งศูนย์บริการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ช่วงนี้พ่อค้าคนจีนเดินทางมาซื้อของเองโดยตรงกันเป็นจำนวนมากถ้าภาครัฐร่วมมือกับตลาด ตั้งศูนย์บริการครบวงจร มีทั้งล่ามแปลภาษา ก็จะง่ายในการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการมากขึ้น ลดส่วนต่างที่ต้องผ่านล่าม อำนวยความสะดวกในการหารถบรรทุก ขนาดใหญ่ ทำให้ครบวงจร ตลอดจน ให้ความรู้ด้านวิชาการกับผู้ประกอบการด้านวิธีการจัดเก็บผลผลิตด้านการเกษตรให้อยู่ได้นาน และสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตให้เกิดมูลค้าเพิ่ม ผมรับรองว่า ปทุมธานีจะเป็นเมืองตลาดโลกได้อีกไม่นาน


“ดร.พินิจ บุญเลิศ” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี” กล่าวว่าจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ตั้งของตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ ที่รับและกระจายผลผลิตได้เกือบทั่วประเทศ มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต จึงเป็นจุดแข็งของจังหวัดปทุมธานีในการผลักดันต่อยอดเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเมืองตลาดจังหวัดปทุมธานี ภายใต้นโยบาย “ปทุมธานีเมืองตลาดของประเทศไทย สู่ตลาดโลก” (Pathum Thani Market 4.0) ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของตลาดจังหวัดปทุมธานี การขยายช่องทางการตลาด การสร้างโอกาสทางการค้าและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการจังหวัดปทุมธานี ภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ การเปลี่ยนจากโลกยุคเดิมสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นสู่การเป็นเมืองที่มีคุณภาพ (quality) ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.มาร์เก็ต(market 4.0) 2.การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ecoindustrial town) และ 3.เมืองนวัตกรรม (city of innovation) 4. เมืองประตูแห่งการเชื่อมต่อโลก (Gate of connection) จังหวัดปทุมธานีเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญ มีตลาดกลางขนาดใหญ่หลายแห่งเพื่อกระจายสินค้าการเกษตรของประเทศ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีโรงงานอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั้งจังหวัด จำนวน 4,000 แห่ง มูลค่าการลงทุน 75,000 ล้านบาท การจ้างงาน 300,000 คน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเป็นลำดับ 6 ของประเทศและพร้อมทั้งการก้าวเข้าไปสู่จังหวัดที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ จากปัจจุบันที่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 ซึ่งต่างจากอันดับ 5 ในปัจจุบันเพียง 22,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 จังหวัดปทุมธานีมีรายได้ 346,723 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่อันดับ 12 ของประเทศ ประมาณ 235,596 บาท


บูมตลาดเล็ก-ใหญ่สู่มาร์เก็ต 4.0 สำหรับยุทธศาสตร์เมืองตลาด 4.0 เนื่องจากปทุมธานีเป็นเมืองที่มีตลาดจำนวนมาก ทั้งตลาดประชารัฐขนาดเล็ก ตลาดชุมชน ตลาดหมู่บ้าน ตลาดขนาดอำเภอ และตลาดขนาดใหญ่มาก เช่น ตลาดไท ตลาดไอยรา ตลาดสี่มุมเมือง และโมเดิร์นเทรด นอกจากมีการพัฒนาไปสู่ตลาดออนไลน์แล้ว ประชาชนยังมีการรวมกลุ่มทำบาร์โค้ดในผัก เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ถึงแหล่งผลิต รวมถึงมีการทำเกษตรแปลงใหญ่ภายในจังหวัด เพื่อรวมผลผลิตมาส่งเสริมสนับสนุนตลาด เพราะปทุมธานีสามารถผลิตผักได้ 18% อีกทั้งพยายามทำเรื่องการแปรรูป และมีกระบวนการนำขยะไปทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะตั้งอยู่รอบตลาดต่าง ๆ รวมถึงมุ่งเน้นอาหารปลอดภัย (food safety) และก้าวสู่การเป็นตลาดศูนย์กลางด้านสมุนไพร (hub of herb) เช่น นำดอกบัวมาสกัดเป็นน้ำมันนวด สร้างมูลค่าเพิ่ม
จังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ป้อนผลิตผลเข้าสู่ตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีโรงงานอุตสาหกรรม ด้านอาหาร และการแปรรูปที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 300 โรงงาน อีกทั้งยังมีธุรกิจขนาดเล็กอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ราย ที่มีการผลิตเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การเลี้ยง จนถึงการแปรรูป และยังคงมีความต้องการในการยกระดับเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวนำ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยภาพรวมด้านกายภาพของจังหวัดปทุมธานีถือว่ามีความพร้อมสูงในการยกระดับมูลค่าของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยอาศัยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร ฯลฯ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มสินค้าอาหาร เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 


ประเทศไทยในฐานะ ที่เป็นประเทศที่ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ และอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อเตรียมความพร้อมของการผลิต สร้างฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศต่อไป และเพื่อเสริมสร้างรายได้พิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้านวัตกรรมอาหาร อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และอาหารด้านนวัตกรรม อาหารให้เป็นที่รู้จัก ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นในการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า และบริการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ให้มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองและก้าวทันต่อสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด สามารถขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
จังหวัดปทุมธานีเป็นเมืองที่เป็น ประตูแห่งการเชื่อมต่อโลก เป็นจังหวัดที่ใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) เราสามารถเป็นประตูเชื่อมต่อกับหลายๆประเทศทั่วโลกได้ และปทุมธานีอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นเมืองตลาดค้าส่งที่สำคัญของอาเซียน ที่จะก้าวไปบนเวทีตลาดโลก“ดร.พินิจ บุญเลิศ” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวทิ้งท้าย

พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา ปทุมธานี (รายงานพิเศษ)