พช. ยึดหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน สร้างสังคมแห่งความสุข

พช. ยึดหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน สร้างสังคมแห่งความสุข

7 ธันวาคม 2562

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้เกียรติบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาชุมชน” ในโอกาสที่เจ้าคณะจังหวัดคณะธรรมยุตประชุมสัญจรกับคณะอนุกรรมการคณะธรรมยุต ครั้งที่ 1 /2562 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 ธันวาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อให้เจ้าคณะจังหวัดคณะธรรมยุต ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะอนุกรรมการคณะธรรมยุต ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น รับทราบระเบียบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมร่วมกัน และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ศาสนกิจของวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยในการประชุมครั้งนี้มีการเชิญภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมบรรยายถึงบทบาทหน้าที่ของสงฆ์ในการจรรโลงสังคม แสดงถึงการทำงานร่วมกันของผู้นำในทุกมิติ อาทิ เชิญปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายในหัวข้อ พระพุทธศาสนากับการปกครองของประเทศไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายในหัวข้อ บทบาทสงฆ์กับการศึกษาของชาติไทย และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บรรยายในหัวข้อ บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาชุมชน อันแสดงให้เห็นถึงการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ณ วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

โดยในการบรรยาย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของพระสงฆ์ในงานของกรมการพัฒนาชุมชน ที่เป็นส่วนเติมเต็มสำคัญที่ชาวกรมการพัฒนาชุมชนได้ยึดเป็นหลักการดำเนินงานมาโดยตลอด นั่นคือ หลัก “บวร” อันประกอบด้วย บ้าน วัด ราชการทุกภาคส่วน 3 ส่วนนี้เป็นเสาหลักในการพัฒนาชุมชน ที่จะนำมาซึ่งความเจริญของประเทศชาติต่อไป โดยปัจจุบันประเทศ ร่วมถึงโลกในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เกิดวิกฤตต่าง ๆ มากมาย ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ สภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนอย่างมีจิตอาสา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำรงชีวิต


กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้หมู่บ้าน ตำบลมีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในปี 2563 ที่จะถึงนี้ กรมการพัฒนาชุมชนมีแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน สู่ตำบลเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน แบ่งเป็น 2 ระดับคือระดับครัวเรือน เป็นขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาให้ทุกครัวเรือนมีความ พอมีพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น เช่น การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยใช้ “โก่งธนูโมเดล” เป็นต้นแบบและ ระดับชุมชน เป็นขั้นก้าวหน้า เป็นการพัฒนา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ มีการรวมกลุ่ม ด้วยการประกอบสัมมาชีพ ในเบื้องต้นได้ ใช้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 11 แห่ง ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตามรูปแบบ “โคกหนองนาโมเดล” โดยใช้ภาคประชาชนที่เป็นแกนนำในพื้นที่ดำเนินการพัฒนาให้เป็น “ปราชญ์”แล้วกลับไปทำเป็นอาชีพของตนเอง ทั้งนี้การขับเคลื่อนทั้ง 2 ระดับ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้ “พัฒนากร” เป็นแกนหลัก บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีการพัฒนา และผู้นำชุมชนในพื้นที่ พัฒนาสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ตำบลเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”และในช่วงท้ายอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้กล่าวอาราธนานิมนต์พระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ในฐานะที่พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับชาวบ้าน
เพื่อให้งานพัฒนาชุมชนประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

สถานีข่าว พช.CNS รายงาน