กรมสุขภาพจิตแนะการช่วยเหลือป้องกันนักเรียนฆ่าตัวตายใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส.

กรมสุขภาพจิต แนะการช่วยเหลือป้องกันนักเรียนฆ่าตัวตายในสถาบันการศึกษา ให้เพื่อนในชั้นเรียน อาจารย์ที่ปรึกษา ครอบครัว ใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง ชี้สังเกตอาการและพฤติกรรม     ที่บ่งบอกว่าเครียด ให้รีบเข้าไปช่วยเหลือโดยเร็ว หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมย้ำข้อมูลสาเหตุการฆ่าตัวตาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ สื่อมวลชนไม่ควรด่วนสรุป

เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีเด็กนักเรียนชาย อายุ 15 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตกลงจากอาคารเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.ปราจีนบุรี ได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยในข่าวระบุว่า ก่อนเกิดเหตุคาดว่า เด็กเครียดและมีอาการซึมเศร้า และในวันที่เกิดเหตุเป็นวันสอบกลางภาควันแรกนั้น ทางกรมสุขภาพจิต ขอวอนสื่อมวลชนว่า ในการนำเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของนักเรียนหรือวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนก็ตาม ไม่ควรด่วนตัดสินว่า เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างทันที เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า   การฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดมาจากสาเหตุเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นสาเหตุได้ เช่น ปัจจัยส่วนตัว ปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ เป็นต้น จึงควรให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญหาสาเหตุตามหลักวิชาการ และไม่ควรนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายโดยละเอียด เพื่อป้องกันการเลียนแบบในผู้ที่กำลังมีปัญหา สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้ ทางกรมสุขภาพจิตยินดีให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 ได้มีการประสานการดำเนินงานกับทีมในพื้นที่สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีเบื้องต้นแล้ว ภายใต้ระบบการเยียวยาจิตใจของงานวิกฤตสุขภาพจิต

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจะเห็นข่าวของการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมากในประเทศไทย และเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของอัตราการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มวัย 10-24 ปี โดยจะครอบคลุมวัยเรียนทั้งช่วงระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา และอาจรวมถึงผู้ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นช่วงแรกของชีวิต พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มนี้ในปี 2561 อยู่ที่ 3.03 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือคิดเป็นจำนวน 397 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับวัยอื่นในภาพรวมของประเทศ ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อาจถือว่า คนไทยในวัย 10-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยกว่าในวัยทำงาน และวัยสูงอายุ           แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สังคมค่อนข้างให้ความสนใจในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากสังคมมีความสะเทือนใจ และเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมรู้สึกสูญเสียมาก เพราะเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศที่มีคุณค่า

โดยกรมสุขภาพจิตขอแนะนำให้มีกระบวนการช่วยเหลือนักเรียนที่อาจมีปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน เช่น ให้เน้นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องทักษะชีวิตในชั่วโมงเรียน การมีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่นักเรียนรู้สึกว่าเข้าถึงได้ง่าย มีระบบเพื่อนช่วยเพื่อน การสังเกตพฤติกรรมในโรงเรียนที่มีความเสี่ยง เป็นต้น นอกจากนี้ แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นสามารถป้องกันได้ โดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส. คือ 1. สอดส่องมองหา 2. ใส่ใจรับฟัง และ 3. ส่งต่อเชื่อมโยง หากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ให้ช่วยกันสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือที่บ่งบอกว่าเครียด ได้แก่ เหม่อลอย เก็บตัว แยกตัว ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ    รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อให้แพทย์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ สามารถโทรปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว