อ่างทอง ผู้ว่าฯเททองหล่อ พระพิมพ์สมเด็จเกษไชโยพิมพ์นิยม7ชั้นใหญ่ที่สุดในโลกใช้ทองเหลือง หนัก8ตัน

อ่างทอง   ผู้ว่าฯ เป็นประธานในพิธีเททองหล่อ พระพิมพ์สมเด็จเกษไชโย พิมพ์นิยม 7 ชั้นใหญ่ที่สุดในโลกหล่อด้วยทองเหลือง น้ำหนัก 8 ตัน
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ณ วัดไชโยวรวิหารจัดพิธีทำบุญอายุวัฒนมงคล 55 ปีท่านพระครูสิริวุฒิกิจ เจ้าอาวาสวัดไชโยวรวิหาร เจ้าคณะอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ในพิธีได้จัดสร้างพระประธานปางอุ้มบาตร (พระประจำวันพุธ) มีความสูง 1.80 เมตรด้วยทองเหลือง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและผู้ที่มากราบไหว้สักการะ และได้จัดพิธีหล่อเหรียญพระพิมพ์สมเด็จเกษไชโย พิมพ์นิยม 7 ชั้นที่มีชื่อเสียงโด่งดังหายากไม่แพ้วัดระฆังโฆษิตาราม ซึ่งมีความกว้าง 1.6 เมตรสูง 2.33 เมตร หล่อด้วยทองเหลืองจำนวน 8 ตัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ย้อนรำลึกความศรัทธาในบารมีของสมเด็จพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี)
เมื่อเวลา 13.39 น. นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีเททองหล่อพระประธานปางอุ้มบาตร, พระพิมพ์สมเด็จเกษไชโย พิมพ์นิยม 7 ชั้น
โดยมีวชิรวิทย์ พึ่งสอนรักษ์ นายอำเภอไชโย ข้าราชการ นายกเทศมนตรีตำบลเกษไชโย พร้อมด้วยพ่อค้าประชาชนจำนวนมาก ร่วมพิธี ภายในอุโบสถ มีเกจิอาจาย์นั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล หนึ่งในนั้นคือ“พระสมเด็จเกษไชโย พิมพ์คะแนนนิยม 7 ชั้น” รุ่น “บารมีขรัวโต หนุนดวง” ไว้แจกผู้ที่มาร่วมงานในโอกาสทำบุญอายุวัฒนมงคล พระครูสิริวุฒิกิจ เจ้าอาวาสวัดไชโยวรวิหาร

วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทเดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ เดิมชื่อ “วัดไชโย” ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เลือกวัดแห่งนี้ในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้ง โดยใช้เวลานานเกือบ 3 ปีในการสร้าง และเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากสร้างพระพุทธรูปเสร็จ สมเด็จพุฒาจารย์ก็ได้ถวายวัดไชโยแห่งนี้ให้เป็นวัดหลวง และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “ วัดเกษไชโย” ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์วัดเกษไชโยทั้งพระอาราม ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้างพระวิหารก็พังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทนโดยโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการเป็นแม่กองช่าง โดยรื้อองค์พระเดิมออกหมด วางรากฐานก่อสร้างใหม่ใช้โครงเหล็กรัดอิฐปูนไว้ภายในลดขนาดจากองค์เดิมลง พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” หรือหลวงพ่อโต องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะที่โดดเด่น พระพักตร์และพระกรรณเหมือนคนธรรมดามาก มีริ้วรอยย่นของ สบง จีวร ชัดเจน พระอุโบสถ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพุทธประวัติ ภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงาม ยังอยู่ในสภาพที่ดี บานประตูแกะสลักอย่างประณีต นอกจากจะเป็นวัดสำคัญของอำเภอไชโยแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดี ได้แก่ “พระสมเด็จเกษไชโย” พระเครื่องที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณนานัปการ
สาทร คชวงษ์ / รายงาน