กรุงเทพมหานคร กรมการพัฒนาชุมชนจัดใหญ่ มหกรรมการออม 50 ปี ทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

กรมการพัฒนาชุมชนจัดใหญ่ มหกรรมการออม 50 ปี ทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
เมื่อวันที่ 7 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) กรุงเทพมหานคร นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการออม 50 ปี ทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมี นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน เป็นผู้กล่าวรายงาน
ในงานมี ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 8 ให้เกียรติเป็นแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนส่วนกลาง ผู้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตส่วนภูมิภาค คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หน่วยงานภาคีจากสถาบันทางการเงิน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานในครั้งนี้
กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มาตั้งแต่ปี 2517 ริเริ่มโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 8 โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกจำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6-8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน

กรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน” กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตได้ดำเนินการมาครบ 50 ปีนับเป็นระยะเวลาแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแหล่งทุนชุมชน ในการประกอบอาชีพของสมาชิก และเป็นช่องทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ทั้งในและนอกระบบของสมาชิก รวมทั้งการสร้างอาชีพให้ครัวเรือนอย่างได้ผลดีก่อให้เกิด “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง”
กิจกรรมมหกรรมการออม 50 ปี ทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (ระดับกรมฯ) จะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างพื้นฐานการส่งเสริมการออม โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีอยู่เดิมและกลุ่มที่จัดตั้งเพิ่มต่อไป

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิก เพื่อนำผลกำไรไปพัฒนาและจัดสวัสดิการให้ชุมชน โดยใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ และยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจ เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ “กระบวนการกลุ่ม” ใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออมของสมาชิก เพื่อเป็นแหล่งทุนในการประกอบอาชีพของสมาชิก รวมทั้งการสร้างอาชีพให้ครัวเรือนอย่างได้ผลดี ก่อให้เกิด “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิตของประชาชน สร้างภูมิคุ้มกันในการดูแลคุณภาพชีวิต และมีเงินทุนต่อยอดธุรกิจชุมชน เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ปั๊มน้ำมันชุมชน โรงสีชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น รวมถึงการนำผลกำไรไปพัฒนาและจัดสวัสดิการชุมชน หนุนเสริมเศรฐกิจฐานราก ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 31,715 กลุ่ม สมาชิกกว่า 3 ล้านคน เงินสัจจะสะสมมากกว่า 31,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 8 แห่ง และปี 2566 จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 4 ศูนย์ ทั่วทุกภาค รวมถึงเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อน “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” (ศจก.) จำนวน 1,645 แห่ง เพื่อบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน แก้ไขปัญหาหนี้สิน ของครัวเรือน นำไปสู่การลดหนี้ ปลดหนี้ แก้ปัญหาทางการเงินของครัวเรือนอย่างได้ผลดี


ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รณรงค์ให้ประชาชนคนไทย ในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ ส่งเสริมการออมภาคครัวเรือน เพิ่มจำนวนสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและมีแหล่งทุนในการประกอบอาชีพได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ จำนวน 1,000,000 คน เพื่อให้คนในหมู่บ้าน/ชุมชน ได้รับบริการการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นและอย่างทั่วถึง “แบบไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง”