อ่างทอง  จัดกิจกรรม BIG CLEANING DAY ทำความสะอาด กวาดล้างถนน

อ่างทอง   จัดกิจกรรม BIG CLEANING DAY ทำความสะอาด กวาดล้างถนน เพื่อชะล้าง และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM2.5)
วันที่ 16 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ สามแยกป่างิ้ว ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ร่วมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) BIG CLEANING DAY ล้างถนนลดฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง สามแยกป่างิ้ว – สี่แยกวิเศษชัยชาญ โดยมี นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอวิเศษชัยชาญ ปลัดอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. จิตอาสาพระราชทาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม
กิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 BIG CLEANING DAY ครั้งนี้ได้ทำความสะอาด ฉีดน้ำกวาดล้างถนน เพื่อชะล้าง และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งการลดปัญหาฝุ่นละอองบนถนนเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในอากาศ ที่จังหวัดอ่างทองให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ได้บูรณาการแก้ไขปัญหาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยการจัดแบ่งพื้นที่ทำความสะอาดตลอดเส้นทางตั้งแต่สามแยกป่างิ้ว ต.ป่างิ้ว อ.เมืองอ่างทอง จนถึงสี่แยกวิเศษชัยชาญ อ.วิเศษชัยชาญ จุดที่ 1 สามแยกป่างิ้ว จุดที่ 2 สะพานวัดแปดแก้ว จุดที่ 3 สะพานวัดม่วง และจุดที่ 4 สะพานวัดราชสกุลณา ไปสิ้นสุด ที่สี่แยกวิเศษชัยชาญ รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร


ทั้งนี้จังหวัดอ่างทองได้ดำเนินการตามนโยบายของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 8 ข้อ ดังนี้
1. เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่
2. ทบทวน และจัดทำแผนเผชิญเหตุ โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
3. เน้นย้ำการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยกำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด
4. กรณีการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้มอบหมายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่
5. เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้มีความพร้อมใช้งานตามภารกิจ
6. ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ เน้นการสื่อสารเชิงรุก ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์มาตรการ ข้อกฎหมาย แนวทางปฏิบัติตน ข้อมูลด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และผลการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของภาครัฐ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
7. เมื่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน หรือระดับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีแนวโน้มสูงขึ้นหรือเกินค่ามาตรฐาน ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา ยกระดับการปฏิบัติตามมาตรการต่าง                                                                                                                                                                                          8. การดูแลสุขภาพประชาชน ให้มอบหมายหน่วยงานด้านสาธารณสุข จัดเจ้าหน้าที่เข้าดูแลประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข แนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างใกล้ชิด
สาทร คชวงษ์ / รายงาน