สุพรรณบุรี  วัดดอนคาสืบสานงานประเพณีสารทลาว

สุพรรณบุรี  วัดดอนคาสืบสานงานประเพณีสารทลาว
วัดโภคาราม (วัดดอนคา) ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้นำชุมชนและชาวบ้านดอนคาได้ร่วมกันสืบสานงานประเพณีบุญสารทลาว ประเพณีสำคัญของพี่น้องชาวบ้านลาวเวียงดอนคา
วันที่ 29 กันยายน 2566 ที่วัดโภคาราม (วัดดอนคา) อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พระครูกิตติสุวรรณวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภออู่ทอง เจ้าอาวาสวัดดอนคา ร่วมกับผู้นำชุมชน และชาวบ้านตำบลดอนคา จัดงานประเพณีบุญสารทลาว มีนายนพดล มาตรศรี สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธาน มีนางวาสนา มาตรศรี สจ.เขต 2 อำเภออู่ทอง ผู้นำชุมชนชาวบ้านดอนคา 20 หมู่บ้านร่วมกิจกรรม
โดยช่วงเช้าประชาชนชาวบ้านดอนคาได้นำอาหารคาวหวานมาร่วมทำบุญตักบาตร และถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นชาวบ้านได้นำข้าวแจกข้าวยาย ซึ่งชาวบ้านได้จัดอาหาร คาวหวาน ผลไม้ ต่างๆ และน้ำดื่ม ไปวางไว้ตามข้างกำแพงวัด โคนต้นไม้ใหญ่ ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการนำอาหารมาให้ผีไม่มีญาติ หรือผู้ที่ล่วงลับ ไปแล้วลูกหลานไม่ได้ทำบุญให้ ก็จะมากินอาหารเหล่านี้ของชาวบ้านที่นำมาวางไว้ให้
ช่วงสายได้มีกิจกรรมการกวนขนมกระยาสารทโดยการนำอุปกรณ์การกวนขนมเช่นเตาอั้งโล่มหาเศรษฐี กระทะใบใหญ่ ข้าวตอก ถั่วลิสง งาขาว ต่างๆ มาช่วยกันทำ ระหว่างการกวนกระยาสารท ได้มีดนตรีพิณแคนบ้านดอนคามาร่วมบรรเลงสร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน มีนางรำแต่งกายด้วยชุดลาวเวียงสีสันสวยงาม มาเต้นมารำกันอย่างสนุกสนาน ครื้นเครงชาวบ้านที่มาร่วมงานต่างมีความสุข


พระครูกิตติสุวรรณวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภออู่ทอง เจ้าอาวาสวัดดอนคา เปิดเผยว่าผู้นำชุมชน ชาวบ้านดอนคาและวัดดอนคา ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีสารทลาว ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ชาวลาวเวียงบ้านดอนคาให้ความสำคัญมากที่สุดในบรรดาประเพณีต่างๆของชาวลาวเวียง โดยงานประเพณีสารทลาวนี้จะไม่กำหนดวันที่แต่จะถือเอาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี หรือที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่าบุญกลางเดือนสิบ งานประเพณีสารทลาว นี้พี่น้องชาวลาวเวียงถือเป็นประเพณีธรรมเนียมโบราณที่ถือปฏิบัติติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนและสั่งสอนกันว่าบุญสารทลาวเป็นบุญใหญ่ ให้ลูกหลานมีน้ำใจต่อกันทั้งคนเป็นและคนตายโดยคนเป็นลูกหลานก็จะนำกล้วยอ้อยและขนม ไปแจกจ่ายตามบ้านญาติพี่น้อง เป็นการแสดงความเคารพและความมีน้ำใจ ส่วนคนตายลูกหลานก็จะนำของไปทำบุญโดยทำข้าวห่อเป็นข้าวแจกข้าวยาย ใส่ตะกร้าไปทำบุญถวายพระแล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้


พระครูกิตติสุวรรณวัฒน์ กล่าวอีกว่า วันสารทลาวตามความเชื่อว่าเป็นปล่อยผีมาเยี่ยมญาติ หลังจากพระสงฆ์ให้ศีลให้พรเสร็จชาวบ้านที่นำของเป็นข้าวแจกข้าวยายมาทำบุญก็จะนำข้าวแจกข้าวยายเป็นห่อไปวางไว้ตามใต้ตนไม้ชายคาในบริเวณวัด ตามความเชื่อที่ว่าจะมีภูตผี ปีศาจที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดและวนเวียนอยู่ในบริเวณวัดได้กินได้ทาน หลังจากที่เหล่าภูตผีปีศาจที่ได้กินข้าวแจกข้าวยายของคนที่นำไปวางไว้ก็จะอวยพรให้เจ้าของข้าวแจกข้าวยาย มั่งมีศรีสุขมีความเจริญรุ่งเรือง ส่วนลูกหลานที่ไม่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้และไม่นำข้าวแจกข้าวยายไปวางให้ภูตผีปีศาจที่อยู่ในวัดก็จะถูกสาปแช่งให้มีอันเป็นไปต่างนาๆ
ดังนั้นชาวบ้านจึงพากันมาทำบุญกันจำนวนมากตามความเชื่อนี้ทำให้พี่น้องชาวลาวเวียงบ้านดอนคาต่างถือปฏิบัติและช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามนี้ไว้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้งานประเพณีสารทลาวของชาวบ้านดอนคาแห่งนี้นอกจากจะเป็นงานบุญที่ชาวบ้านเชื่อว่าทำบุญแล้วทำครอบครัวมีเจริญรุ่งเรืองมีความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านเกิดความสามัคคีกัน เนื่องจากก่อนจะมีพิธีทำบุญช่วงเพล ชาวบ้านต่างก็ช่วยกันจัดหาวัสดุอุปกรณ์การทำขนมกระยาสารท มากวนกระยาสารทกันในวัดโดยมีดนตรีพิณแคนมาขับกล่อมมีนางรำนางเซิ้ง มาเซิ้งมารำสร้างความสุขให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญสุขใจได้บุญอิ่มท้อง
ภัทรพล พรมพัก สุพรรณบุรี