กาญจนบุรี  ประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญเดือนเก้า หรือไคยจูวหล่าเขาะว์

กาญจนบุรี  ประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญเดือนเก้า หรือไคยจูวหล่าเขาะว์ ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอำเภอสังขละบุรี เป็นประเพณีสำคัญต่อจิตวิญญาณและการดำรงอยู่ของชาวกะเหรี่ยง ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ซึ่งพิธีจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี
วันที่13 สิงหาคม 2566 (ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9) ร้อยตรีสุทธิวงศ์ เมฆฉายปลัดอาวุโส นายสมชาย วุฒิพิมลวิทยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ และนายทวีป พัฒนมาศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน ได้ร่วมงานประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญเดือนเก้า(ไคยจูวหล่าเขาะว์) ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ทั้ง6หมู่บ้าน อันได้แก่ หมู่ที่1 บ้านสะเน่พ่อง หมู่ที่2 บ้านกองม่องทะ หมู่ที่3บ้านเกาะสะเดิ่ง หมู่ที่4บ้านไล่โว่-สาละวะ หมู่ที่5บ้านทิไล่ป้า และหมูที่6บ้านจะแก เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามในพื้นที่ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อายกะเหรี่ยง โดยการจัดกิจกรรมจะหมุนเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆสลับกันไปเพื่อให้ครอบคลุม โดยปีนี้ได้จัดขึ้นที่บ้านไล่โว่-สาละวะ หมู่ที่ 4 ตำบลไล่โว่ อำเภอ สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี


โดยพิธีในช่วงเช้าจะเริ่มด้วยการไหวะพระรับศีลจากพระภิกษุ ก่อนที่ผู้มาร่วมงานจะร่วมกันทำบุญตักบาตร และกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
ต่อจากนั้นจึงจะเข้าสู่พิธิผูกข้อมือโดยการอัญเชิญเครื่องประกอบพิธีผูกข้อมือ โดยจะใช้เด็กชาย-หญิง 7 คู่ ค่อยๆเดินขึ้นวัดเข้าสู่พื้นที่ที่จัดไว้สำหรับประกอบพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญ บรรจงถือกระด้งที่สานจากไม้ไผ่ภายในบรรจุสิ่งมงคลที่เป็นตัวแทนแห่งความสุขความเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ จานไม้/ถาดไม้ (สอนให้ลูกหลานเชื่อฟังพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือผู้นำ), ไม้พายข้าว (อุปกรณ์ทำอาหารใช้เคาะเรียกขวัญ), ด้ายสีขาว ( สื่อถึงความรักใคร่ปรองดอง), ข้าวสุก (สื่อถึงความสามัคคีเป็นกลุ่มก้อน), ข้าวต้มมัด (สื่อถึงความร่วมมือ ไม่แตกแยก), น้ำ (สื่อถึงความร่มเย็น), กล้วย (สื่อความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน), อ้อย (สื่อถึงสัมพันธไมตรีอันดี) และ ดอกดาวเรือง (สื่อความเจริญเติบโต)

หลังจากนั้น ผู้สูงอายุซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาที่ดำเนินชีวิตบนความดีงาม มีครอบครัวที่ดี(ผัวเดียว-เมียเดียว) เป็นที่ยกย่องจากชาวบ้านจะเป็นผู้ประกอบพิธีเรียกขวัญ จากนั้นผู้สูงอายุชาย(เจ้าพิธี)จะทำการผูกข้อมือเรียกขวัญให้พระภิกษูที่จำพรรษาในวัดไล่โว่ พร้อมๆกันนั้นผู้สูงอายุจะเริ่มผูกข้อมือเรียกขวัญให้กันและกันก่อน โดยจะเลือกสิ่งของมลคลทั้ง5วนรอบเทียนที่ถูกจุดไว้เพื่อให้แสงสว่าง 3 รอบ จุ่มน้ำ 1 ครั้ง ก่อนจะ วางลงในมือ พร้อมนำด้ายขาวที่จัดเตรียมไว้ มาผูกข้อมือ 3 รอบ โดยเริ่มจากมือขวา ต่อด้วยมือซ้าย ระหว่าผูกข้อมือก็จะกล่าวคำเรียกขวัญเป็นภาษากะเหรี่ยงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า”ปรื้อยหล่า ปรื้อยหล่า” ก่อนจะต่อด้วยการเรียกให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายยาย กลับมาอยู่กับพี่น้อง อยู่กลับเหย้ากับเรือน (จากเดิมทีที่อาจไปหลงอยู่ตามป่าเขา แม่น้ำลำธาร) เมื่อขวัญกลับมาแล้วก็ขอให้ปราศจากทุกข์โศกโรคร้าย พบแต่สิ่งที่ดี มีทรัพย์สินเงินทอง อยู่เย็นเป็นสุข
ต่อจากนั้นจากนั้นผู้ประกอบพิธีเรียกขวัญจะรวบมือทั้ง2ข้างของผู้เข้าพิธี ก่อนจะนำเศษด้ายที่ตัดแล้วรวมกับข้าวต้มและดอกไม้ จุ่มน้ำลากจากข้อมือขึ้นไปตามแขนก่อนจะนำไปวางไว้บนศรีษะผู้เข้าพิธี เป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนั้นผู้สูงจำทำการผูกข้อมือเรียกขวัญให้คู่เด็กชาย-หญิง ก่อนจะทำการผู้กข้อมมือเรียกขวัญให้ผู้ที่มาร่วมพิธีฯจนครบทุกคน
ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าทุกชีวิตมี “ขวัญ” เป็นส่วนประกอบสำคัญทางจิตวิญญาณ แต่การที่ต้องออกจากบ้านไปไกลเพื่อทำงาน หรือการเข้าป่าทำไร่ หาของป่า การต้องพบเจอเหตุการณ์ที่อาจทำให้ตกใ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ขวัญที่มีนั้นหายไป เมื่อถึงเวลาในเดือน9จึงต้องมีการทำพิธีเพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนมา เพื่อให้ขวัญได้กลับคืนมาอยู่กับเจ้าของ ซึ่งจะส่งผลให้เรามีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขความเจริญในทุกๆด้าน

แต่เดิมพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญฯ จะทำกันภายในครอบครัว หรือในหมู่เครือญาติ แต่ด้วยสภาพสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบันที่หลายคนต้องจากบ้าน บางครั้งจึงไม่สามารถเดินทางกลับไปร่วมพิธีกับครอบครัวที่บ้านได้ จึงได้มีการริเริ่มจัดพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญที่วัด เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวกกับประชาชนบาลกลุ่ม นอกจากยังการจัดพิธีฯที่วัดยังมีข้อดีที่ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสพบปะกันในหมู่เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน และญาติพี่น้อง ทำให้เกิดความรักความสามัคคี และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี โดยนายทวีป พัฒนมาศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม เห็นถึงความสำคัญของประเพณีผูกข้อมมือเดือนเก้า(ไคยจูวหล่าเขาะว์)ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอสังขะบุรี ทั้ง3ตำบล(ตำหนองลู ตำบลไล่โว่ และตำบลปรังเผล) ซึ่งเป็นประเพณีที่ดีงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริม ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการให้การสนับสนุนกิจกรรมดีๆเช่นนี้ เพื่อให้อยู่คู่กับพี่น้องอำเภอสังขละบุรีต่อไป
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี