ประจวบคีรีขันธ์ พอช.จัดเวทีสรุปบทเรียนขบวนองค์กรชุมชนภาคกลาง-ตะวันตก

พอช.จัดเวทีสรุปบทเรียนขบวนองค์กรชุมชนภาคกลาง-ตะวันตก ในการมีส่วนร่วมภาคประชาชนป้องกันและต่อต้านการทุจริต
วันที่ 30 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 29 ก.ย.65 ที่ห้องสิงขร โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พอช. (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวเปิด เวทีสรุปบทเรียนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ของขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก โดยมี นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวต้อนรับ และมี น.ส.ปภรดา เขียวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 7 นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบฯ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดทั้ง 13 จังหวัด ภาคกลางและตะวันตก เจ้าหน้าที่สถาบัน พอช. ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดประจวบฯ เข้าร่วม จากนั้นได้มีการทบทวนเป้าหมาย หลักคิด กระบวนการ และแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดย นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาคณะทำงานสนับสนุนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต
ด้าน นายสิน สื่อสวน กล่าวว่า การเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตโดยเครือข่ายภาคประชาชนเป็นแกนหลัก โดยมีแนวทางสำคัญ คือ การเปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง เครือข่ายภาคประชาชนตื่นตัวทุกพื้นที่ ผ่านการขยายงานให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และสร้างกิจกรรมที่มีความหลากหลายตามสภาพ บริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดี สร้างระบบพื้นที่โปร่งใสให้ประชาชนรับรู้รับทราบ สร้างความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล และมีช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริตเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

ต่อมา มีการจัดเวที Ted Talks “บทเรียนพลังเครือข่ายในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรชุมชน” โดยเป็นการรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ จ.สระบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจากการรายงานพบว่า จ.สระบุรี ถือเป็นจังหวัดนำร่องของภาคกลางและตะวันตก ที่มีการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 และต่อยอดการดำเนินงานปี 2565 รวมพื้นที่การดำเนินงานทั้งหมด 7 อำเภอ 10 ตำบล 7 เครือข่ายการทำงาน ได้แก่ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เครือข่ายชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสระบุรี เครือข่ายเยาวชนชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต เครือข่ายเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) และเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) ภายใต้เป้าหมายร่วม “โปร่งใส เป็นธรรม มีความเท่าเทียม” ซึ่งในระดับจังหวัด คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ผ่านการจัดตั้งกลไกคณะทำงานการป้องกันและต่อต้านการทุจริต


ในส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนฯ กล่าวว่า ได้เริ่มต้นดำเนินการในปี 2565 มีพื้นที่ดำเนินการรวม 8 อำเภอ 24 ตำบล 3 เครือข่ายการทำงาน ได้แก่ สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัด ได้มีการประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 7 โดยได้มีการแต่งตั้งกลไกคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกำหนดเป้ามายร่วมกัน คือ “คนประจวบ ไม่ทน ไม่จำนน ต่อการทุจริต” อีกทั้ง เชื่อมโยงพันธมิตรความร่วมมือ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 7 สถาบันการศึกษา ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาองค์กรชุมชนเพื่อรวมกลุ่มผู้ก่อการดี วิเคราะห์และจัดทำแผนร่วมการป้องกันความเสี่ยงในการทุจริตของโครงการระดับพื้นที่จังหวัด คือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำ พร้อมสร้างช่องทางการรับเรื่องทุจริตการแจ้งเบาะแสร่วมกับกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น QR CODE การแจ้งเบาะแสทุจริต, ศูนย์รับเรื่องทุจริตร่วมกับหน่วยงาน, ตู้รับแจ้งเหตุ เป็นต้น ต่อมาในระดับตำบล มีการสร้างครู ก. และครู ข. พร้อมทั้งลงพื้นที่ปฏิบัติการ เช่น การสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน เด็ก และเยาวชน การรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เป็นต้น


จากนั้น ได้แลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นในประเด็นคำถาม “ทิศทางและจังหวะก้าวปี 2566 ขบวนองค์กรชุมชนจะเตรียมความพร้อมอย่างไร” ของกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก พบว่า สถานการณ์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดจะมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคีพัฒนาในการหนุนเสริมและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น แต่การขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนยังต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความเข้าใจกับพื้นที่ปฏิบัติการระดับตำบล ประกอบกับการสร้างการยอมรับกับภาคีพัฒนาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงได้วางแนวทางการขับเคลื่อนงานออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับกลุ่มจังหวัด มีแนวทางในการสร้างพื้นที่กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมาย/ ทิศทาง ออกแบบการทำงาน และวางระบบการติดตามหนุนเสริมแบบธรรมาภิบาล (2) ระดับจังหวัด มีแนวทางในการเชื่อมโยงตำบลและขยายเครือข่ายหุ้นส่วนการพัฒนาทั้งภายใน/ ภายนอก เช่น สถาบันการศึกษา สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต เป็นต้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนการทำงาน ออกแบบเครื่องมือ พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนและเครือข่าย และขยายผลการสื่อสารอย่างเป็นสาธารณะ และสุดท้าย (3) ระดับตำบล มีแนวทางในการขยายผลการป้องกันและต่อต้านการทุจริตให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลไกที่มีส่วนผสมของคนก่อการดีและเครือข่ายความร่วมมือ กำหนดเป้าหมายร่วม จัดทำแผนและปฏิบัติงานร่วมในระดับตำบล โดยมีพี่เลี้ยงหรือครู ก. ที่มาจากตำบลที่เคยรับงบประมาณจากปี 2564 – 2565 คอยให้คำปรึกษาและหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน


ด้าน นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผอ.ภาคกลางและตะวันตก พอช. กล่าวให้กำลังใจพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก ความว่า “ปัญหาคอรัปชั่นถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่พวกเราขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกดำเนินการผ่านเครื่องมือโครงการในทุกประเด็นงานนั้น ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ชาวบ้านเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาและแสวงหาทางออก แต่จะทำอย่างไรให้จุดยืนของเราเกิดเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายผลให้ครบคลุมทุกจังหวัด ขยายแหล่งทุนที่ให้ชุมชนเป็นแกนหลักที่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ จนทำให้การพัฒนากลายเป็นวิถีประเพณี วัฒนธรรม จะเป็นอารยธรรมที่ยาวนาน เพื่อจุดประกายและต่อยอดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่คนรุ่นหลังในอนาคตต่อไป”


ทั้งนี้ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก ในการดำเนินงานในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนระดับตำบล อย่างเป็นรูปธรรมจำนวน 34 ตำบล ในพื้นที่ปฏิบัติการจำนวน 2 จังหวัด อันได้แก่ จังหวัดสระบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบกับการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนระดับจังหวัดจำนวน 5 เครือข่าย ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามแผนงานและสรุปบทเรียนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตระดับจังหวัดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

//////////////////////////
ณัฐธภพ​ พันสาย​ / จ.ประจวบคีรีขันธ์​ รายงาน​ 0649646443​