มทร.ศรีวิชัยวิชัย ร่วมกับ วช.ขับเคลื่อนโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ”คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”

มทร.ศรีวิชัยวิชัย ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขับเคลื่อนโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” สร้างจิตสำนึกการทำธนาคารปูม้า และปลูกหญ้าทะเลให้กับเยาวชน ในจังหวัดตรัง
หญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรที่ที่สำคัญในระบบนิเวศที่ ปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำหลากหลายชนิด อันได้แก่ กุ้ง หอย ปู และปลา ซึ่งหญ้าทะเลยังเป็นอาหารสำคัญของพะยูนและเต่าทะเล เป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และที่อยู่อาศัยของ สัตว์น้ำวัยอ่อน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในท้องทะเลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขับเคลื่อนโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ภายใต้โครงการ “การบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่” โดย อาจารย์ ดร.วิกิจ ผินรับ เป็นหัวหน้าโครงการ จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การฝึกอบรมการสร้างจิตสำนึกการทำธนาคารปูม้าและปลูกหญ้าทะเลให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดตรังใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหาดสำราญ อำเภอปะเหลียน (เกาะสุกร) และอำเภอกันตัง (เกาะลิบง).

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างวันที่ 9-16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขับเคลื่อนโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ได้มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ การปลูกหญ้าทะเลให้กับกลุ่มเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยมี นายกิตติพงษ์ อำพันธ์ นายอำเภอหาดสำราญ เป็นประธานเปิดกิจกรรมใน พื้นที่ อำเภอหาดสำราญ นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เป็นประธานเปิดกิจกรรมใน พื้นที่ อำเภอปะเหลียน (เกาะสุกร) และนายอับดุลรอฮีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ร่วมด้วยนางสาวศิรินาถ แก้วเมือง รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการฝึกอบรมในอำเภอกันตัง (เกาะลิบง)

โดยกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายเกี่ยวกับความรู้ และที่มาของการทำธนาคารปูม้า ตลอดจนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า ในการทำธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟักชุมชน ธนาคารปูม้าสู่การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูม้า และการสาธิตการปลูกหญ้าทะเล โดยได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกปฏิบัติการทำธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟักชุมชน การจัดเตรียมอุปกรณ์ใน การปลูกหญ้าทะเล และร่วมกันปล่อยลูกปูม้าและปลูกหญ้าทะเล เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกการทำธนาคารปูม้าให้กับเยาวชนใน สร้างการรับรู้ ละตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำธนาคารปูม้า และการปลูกหญ้าทะเลซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง