พช. จับมือภาคีเครือข่าย สนับสนุนการตรวจติดตาม “โคก หนอง นา พช.”

พช. จับมือภาคีเครือข่าย สนับสนุนการตรวจติดตาม “โคก หนอง นา พช.” จาก ป.ป.ท และ ป.ป.ช ในพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางไพลิน ขาวแปลก พัฒนาการอำเภอบุณฑริก นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงานในโอกาสที่ ว่าที่ร้อยโท เจนรบ พละเดช ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ หัวหน้าคณะตรวจติดตามจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 3 และ นายกฤตชัย พรมวัน เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ หัวหน้าคณะตรวจติดตาม จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายช่างผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และครัวเรือนต้นแบบเจ้าของแปลง ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานให้แก่คณะกรรมการตรวจติดตามในครั้งนี้

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จากทางรัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอบุณฑริก มีพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ จำนวน 189 แปลง แยกเป็น แปลง CLM พื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 1 แปลง / แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 63 แปลง และแปลง HLM พื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 125 แปลง ซึ่งผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่ 2 นั้น ปรากฏว่า แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) อยู่ระหว่างการขุดปรับพื้นที่จาก หน่วยพัฒนาการพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย (นพศ.นพพ.) ส่วนการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) แปลงระดับครัวเรือน ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 147 แปลง คงเหลือ 41 แปลง วงเงินสัญญาจ้าง 15,847,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 78.19 ขุดปรับพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว 70 แปลง (อยู่ระหว่างการทำเอกสารส่งเบิกเงิน)

นอกจากนั้น คณะฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามแปลงครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลง ของนางวิยะดา อนุวรรณ หมู่ที่ 9 ตำบลโนนค้อ อำเภอบุณฑริก ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ สัดส่วน 2:3 ประเภทดินร่วนปนทราย และแปลง ของนางแสวง จันทนิตย์ หมู่ที่ 11 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ สัดส่วน 1:3 ประเภทดินร่วนปนทราย ซึ่งคณะตรวจติดตามฯ ให้คำแนะนำในเรื่องการขุดปรับพื้นที่ ได้แก่ 1)การวัดปริมาตรดิน ขอให้ช่างผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม ไม่ให้เกิดความเสียหายของภาครัฐ เบิกจ่ายเท่าที่ขุดได้จริง 2)การขุดบ่อ ควรระวังการวางขอบบ่อต้องหางจากแนวเขตพื้นที่ข้างเคียงไม่น้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อ เพื่อป้องกันการร้องเรียนที่จะเกิดขึ้นภายหลัง


ด้าน นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะตรวจติดตามว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งการดำเนินงานนั้น มีกลไกทำงาน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนและคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.”กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา เเละมีแผนการติดตามทุกรุ่นในการดำเนินการฝึกอบรมฯ / กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน การดำเนินงาน มีการสำรวจการใช้แบบแปลน สร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเรื่องการขุด โคก หนอง นา

โดยเชิญอาจารย์จากชมรมศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเป็นวิทยากร สร้างความรู้และความเข้าใจให้นายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมีคณะติดตามการดำเนินโครงการเป็นระยะ และมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ ประเด็นถาม-ตอบ ให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ / กิจกรรมที่ 3 สร้างงานสร้างรายได้รายเดือน ให้แก่ เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน นั้น ได้มีการติดตามการปฏิบัติหน้าที่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.)  อย่างต่อเนื่อง และมีการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ผลการดำเนินงานของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ อย่างสม่ำเสมอ / กิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model : HLM) ระดับครัวเรือน ผลการดำเนินงาน มีการตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ / กิจกรรมที่ 5 บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล การดำเนินงาน มีการตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ต่อไป”

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี ภาพข่าว/รายงาน