อุบลราชธานี เปิดการฝึกอบรม “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 20

จ.อุบลราชธานี เปิดการฝึกอบรม “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 20 ยกระดับการสร้างมั่นคงทางอาหาร สู่หลักกสิกรรมธรรมชาติ สู้ภัยโควิด-19

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564 เวลา 11.30 น. ณ ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 20 โดยมี นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้กล่าวรายงานฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนนายอำเภอตระการพืชผล พัฒนาการอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ

โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดโครงการฯ และพบปะผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 20 ในวันนี้ว่า “โครงการโคก หนอง นา โมเดล จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยเฉพาะอำเภอตระการพืชผล ของเรานั้น ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย กว่า 1,200 ครัวเรือน จึงต้องเอาโคก หนอง นา มาแก้ปัญหาภัยแล้ง และการไม่มีน้ำใช้ในที่ดินทำกิน เพราะโครงการนี้จะทำให้เรามีบ่อน้ำเป็นของตนเอง สามารถใช้ในแปลงเกษตรในพื้นที่ของตน สำหรับนาข้าว พืชผักสวนครัวและปศุสัตว์ ขอฝากหัวใจสำคัญของโคกหนองนา คือการ “แก้แล้ง เก็บฝน” โดยการแก้เเล้ง หมายถึงแปลงตัวอย่างโคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่กระจายกันอยู่ใน 25 อำเภอ จำนวน 3,960 แปลง ที่จะสามารถเก็บน้ำได้มากที่สุดถึงประมาณ 19 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตร ในการอุปโภคบริโภค ส่วนการเก็บฝนนั้น หมายความว่าในฤดูฝน พื้นที่โคกหนองนาจะช่วยเก็บน้ำฝนให้เรามีน้ำใช้ ช่วยชะลอน้ำหลาก

ซึ่งเป็นต้นเหตุของน้ำท่วม นอกจากนั้น โคก หนอง นา ยังทำได้มากกว่าแก้เเล้งเก็บฝน นั่นก็คือ เป็นพื้นที่สร้างแหล่งอาชีพให้ลูกหลานในอนาคต เป็นการพึ่งตนเองตามหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 และยกระดับจากการสร้างความมั่นคงทางอาหารสู่หลักกสิกรรมธรรมชาติ ในส่วนของจังหวัดฯ จะให้การสนับสนุนโดยการดึงเอาหน่วยงานราชการมาช่วยนำผลผลิตของท่านมาพัฒนา ส่งเสริมการแปรรูป รวบรวมผลผลิตสู่แบรนด์ “โคก หนอง นา โมเดล จังหวัดอุบลราชธานี” โดยมีครัวเรือนเป้าหมายโครงการฯ เป็นหน่วยผลิต และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยสนับสนุนส่งเสริม เพื่อให้จังหวัดของเราจะมีศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ซึ่งจังหวัดจะสร้างความต่อเนื่องของโครงการฯ ไม่ปล่อยให้ทุกท่านทำอย่างโดดเดี่ยวแน่นอน สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการประกอบอาชีพ มีกำลังใจในการทำมาหากิน เศรษฐกิจครัวเรือนมีความเข้มแข็ง ต่อสู้กับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อไป” ประธานในพิธีฯ กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณเงินกู้จากรัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้ 1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น 2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น และ 5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น ซึ่งการอบรมรุ่นที่ 17-20 มีกำหนดดำเนินการพร้อมกัน ในระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม 2564

สำหรับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 20 ระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม 2564 ณ ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย 1)ฐานคนมีไฟ 2)ฐานคนมีน้ำยา 3)ฐานคนเอาถ่าน 4)ฐานรักษ์​แม่ธรณี 5)ฐานรักษ์​แม่โพสพ 6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ 7)ฐานคนรักษ์ดิน 8)ฐานคนรักษ์ป่า 9)ฐานคนรักษ์น้ำ 10)ฐานคันนาทองคำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯ จำนวน 105 คน จากตำบลคอนสาย อำเภอตระการพืชผล 77 คน และตำบลกุดยาลวน อำเภอตระการพืชผล 28 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ และทีม SAVEUBON ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว-รายงาน