ปทุมธานี อุตสาหกรรมจัดหลักสูตร ย้อมผ้าสีธรรมชาติ

อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี จัดหลักสูตร ย้อมผ้าสีธรรมชาติ ขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมท้องถิ่น
นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เยี่ยมชมโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและธุรกิจบริการกิจกรรมและพัฒนายกระดับผ้าทอใยกล้วย หลักสูตรการย้อมผ้าสีธรรมชาติที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ และแนวทางในการต่อยอดให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มทักษะการย้อมผ้าสีธรรมชาติให้ผู้ที่เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นางพรอัปสร นิลจินดา ประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี นางสาวบุญนภา บัวหลวง ประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดปทุมธานี และชุมชนคุณธรรมวัดไก่เตี้ย ร่วมเยี่ยมชมโครงการ
นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาสกัดเป็นสีย้อมหาได้ง่ายในชุมชน เช่น ใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ และแก่นไม้ เป็นต้น ที่จะให้สีสันที่แตกต่างกันไป เหล่านี้ล้วนแต่ได้จากแหล่งที่สามารถสร้างทดแทนขึ้นใหม่ได้

ดังนั้นจึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและไม่เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้สีสังเคราะห์ที่มีสารตั้งต้นเป็นสารเคมีอันตรายหลายชนิด ส่งผลให้สีย้อมสังเคราะห์มีความเป็นพิษ ซึ่งยากต่อการสลายตัวทางชีวภาพ อีกทั้งสินค้าที่ผลิตจากผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาตินั้นกำลังเป็นที่นิยมต่อคนทุกกลุ่ม เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สินค้าเป็นที่ต้องการต่อตลาดผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และทำให้ราคาสินค้าประเภทนี้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและธุรกิจบริการกิจกรรมและพัฒนายกระดับผ้าทอหลักสูตรการย้อมผ้าสีสีธรรมชาติ

เพื่อสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่บุคลากรในท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพอิสระ และเพิ่มพูนทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ บนพื้นฐานของการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาสให้แก่บุคลากรในท้องถิ่น ส่งผลให้มีการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตามนโยบายของภาครัฐอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มพูนทักษะ ฝีมือ ในการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้