อธิบดี พช.ชูธงนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ“ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล”

อธิบดี พช.ชูธงนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล”
ย้ำทุกจังหวัดดำเนินต่อเนื่อง โปร่งใส ยึดอุดมการณ์พัฒนาชุมชน สร้างสุขมั่นคงสู่ประชาชนอย่างยั่งยืน

วันที่ 13 มกราคม 2564นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” โดยมี นางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายนิวัติ น้อยผาง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผอ.สถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผอ.สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นางชยาณี มัจฉาเดช ผอ.กองคลัง นายนพรัตน์ ธำรงทรัพย์ ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ และนางสาวมนทิรา เข็มทอง ผอ.กลุ่มงานประสานแผนและยุทธศาสตร์ สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ร่วมในการประชุม ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ณ ห้อง war room ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานและพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกรของพระองค์สืบไป สะท้อนจากโครงการตามพระราชดำริ อาทิ พระราชดำรัสให้ก่อตั้งศูนย์ฝึกศาสตร์พระราชา ภายในบริเวณพื้นที่ของกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ ตลอดจนทรงชื่นชมและพระราชทานกำลังใจผ่านภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” แก่พสกนิกรชาวไทยและกรมการพัฒนาชุมชน ฉะนั้น การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” จึงถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำคัญในการสนองงานตามพระราชปณิธาน การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยความคาดหวังจากหลากหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ รัฐบาลที่ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4700 ล้านบาท ภายใต้งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และงบประมาณในปี 2564

ซึ่งเป็นดังต้นทุนที่พวกเรากรมการพัฒนาชุมชน ต้องร่วมกับขับเคลื่อนให้สำเร็จเป็นจริง คุ้มค่าดังที่ได้รับความไว้วางใจ ในส่วนต่อมาคือความคาดหวัง จากพี่น้องประชาชน ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ที่มีความเต็มใจในการเข้าร่วมโครงการด้วยหวังจะร่วมก่อให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ทุกความคาดหวังจึงเป็นเป้าประสงค์ที่พวกเราต้องบรรลุถึง นัยยะสำคัญของโครงการนี้ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทุกภาคส่วนแม้แต่ข้าราชการของกรมการพัฒนาชุมชนเอง ต้องได้รับการพัฒนาและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ให้เกิดพื้นที่ต้นแบบตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และภูมิสังคม สอดรับกับภารกิจในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ยั่งยืน การดำเนินงานตามโครงการนี้จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว และเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก การติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนบูรณาการองค์ความรู้ และสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น”

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการระบาดรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ในระลอกใหม่ ส่งผลให้ต้องมีการปรับแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ดำเนินการอยู่ในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2563 – พฤศจิกายน 2564 ซึ่งได้นำเสนอต่อสภาพัฒน์ แล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 แม้ว่าห้วงเวลาของทั้ง 7 กิจกรรม จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ต้องคงหลักการวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ชุมชน ผ่านการสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบและพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับภูมิลำเนา ตลอดจนสร้างและส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถพัฒนายกระดับมุ่งไปสู่การจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับตำบล และขอเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมทั้ง 7 ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น อย่าข้ามขั้นตอน ยกเว้นแต่เพียง

การดำเนินการในกิจกรรมที่ 2 คือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) และระดับครัวเรือน (HLM) ที่ให้ครัวเรือน ตำบลดำเนินการไปก่อนได้เนื่องจากตามแนวทางเดิมนั้น การปรับปรุงพื้นที่ต้นแบบตัวแทนครัวเรือน และตำบล ต้องผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ตามลำดับกิจกรรมที่ 1 เสียก่อน แต่เพื่อเป็นการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนา 2019 (COVID-19) การฝึกอบรมจึงต้องมีการปรับแนวทาง หรือเลื่อน เพื่อให้ไม่เป็นการกระทบต่อการปรับปรุงพื้นที่ที่ต้องดำเนินการตามแบบโดยรอบคอบ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับฤดูกาลที่อาจเป็นอุปสรรค การดำเนินการในกิจกรรมที่ 2 นี้จึงสามารถดำเนินการไปก่อนในห้วงเดือนธันวาคม 2563-พฤษภาคม 2564 เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนในเดือนมีนาคม โดยเมื่อกล่าวถึงการสร้างพื้นที่ต้นแบบ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการพัฒนา Platform และฐานข้อมูลของ 337 แปลง พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) เพื่อเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังการดำเนินการในบริบท โคก หนอง นา โมเดล”

ด้าน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “อีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” คือ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่เราคาดหวังให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยที่พวกเขาได้เรียนรู้และน้อมนำองค์ความรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ นำไปใช้จริงให้เกิดรูปธรรมทั้งในพื้นที่ต้นแบบและในชีวิตต่อไป เราจึงไม่ได้มองพวกเขาว่าอยู่ในฐานะลูกจ้าง หรือคนงาน แต่เป็นผู้มีอุดมการณ์ในการพัฒนา จึงขอฝากให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ได้ร่วมดูแลกระตุ้น สื่อสารให้พวกเขาได้ใช้ความรู้ความสามารถในการดำเนินการร่วมกับครัวเรือน ตำบล อย่างแท้จริงตามภารกิจตามความตั้งใจ นอกจากการให้ นพต.เหล่านี้ร่วมคิด ร่วมทำ ในพื้นที่ของพวกเขาแล้ว แนะว่าควรนำพวกเขาได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้ ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เพราะในอนาคตพวกเขาเหล่านี้เองที่จะอาสามาเป็นเพื่อนคู่คิดกับพัฒนากร ต่อยอดงานพัฒนาชุมชนต่อไป”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญกับ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โดยจะได้ดำเนินการขยายสัญญาจ้างจากระยะ 9 เดือน เป็น 12 เดือนหรือ 1 ปี ขณะนี้มีแนวทางพยายามให้เกิดสวัสดิการคุ้มครองช่วยเหลือด้านความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบที่ยังไม่ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ทำให้ต้องปรับแผนการอบรม จึงขอให้ทุกจังหวัดที่ยังสามารถดำเนินการได้ มีแผนการฝึกอบรมที่เหมาะสม อาทิ การปรับลดกลุ่มเป้าหมาย ใช้มาตรฐาน SHA หรือมาตรการของ ศบค.โดยเคร่งครัด ขณะนี้จังหวัด อำเภอ ต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยกำชับถึงบทบาทภารกิจของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ส่งเสริมให้พวกเขารู้จริงทำจริง Learning by Doing และต้องให้พวกเขาแสดงความรู้ความเข้าใจออกมาในเชิงประจักษ์ด้วยการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และง่ายที่สุดคือการส่งเสริมให้ลงมือปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งจะสร้างคุณประโยชน์ 2 ทาง คือ การปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพาะปลูกเพื่อขยายพันธุ์พืช ต่อไป

และในส่วนของการจัดหาครุภัณฑ์หรือวัสดุทางการเกษตรที่ใช้ในการดำเนินโครงการขอกำชับให้ทุกจังหวัด ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชนให้มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดย่อมในท้องถิ่นเป็นลำดับแรก ดังที่ได้กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการดำเนินการที่สำคัญยิ่ง เรื่องใหญ่ที่สุดคือพี่น้องประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ขอให้พวกเราชาวกรมการพัฒนาชุมชน ช่วยกันมุ่งมั่น ทุ่มเท เอาใจใส่ ไม่ยึดหรือถือเอาความเป็นราชการในตัวจนเกินไป ดำเนินการทุกอย่างโดยรอบคอบ ศึกษา ยึดระเบียบ กฎหมายให้เกิดความโปร่งใสในทุกกระบวนการอย่างสูงสุด”

การประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ เน้นย้ำ และทบทวนในรายละเอียด ตลอดจนติดตามความคืบหน้า การขับเคลื่อนโครงการของทุกจังหวัด ซี่งในทุกมิติจะนำสู่การถอดบทเรียนต่อยอดสร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดแก่พี่น้องประชาชน.