สุโขทัย ขยายผลปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช. เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ภายใต้สถานการณ์ COVID-19

สุโขทัย “นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โครงการ โคก หนอง นา โมเดล จังหวัดสุโขทัย ร่วมขยายผลปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช. เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เป้าหมายทุกครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย”

วันที่ 4 มกราคม 2564 เวลา 14.00 น. นายธวัช ใสสม พัฒนาการจังหวัดสุโขทัย ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมส่งเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรม ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช. บูรณาการร่วมกับพื้นที่ต้นแบบฯ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ระดับตำบล (CLM) ณ พื้นที่ของนายธนพล อยู่คง บ้านบนคุย ตำบลโตนด อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร จัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการเพาะเมล็ดพันธุ์ ขยายผล แบ่งปัน แลกเปลี่ยน ให้กับครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย นำไปขยายพันธุ์ เพาะปลูก ซึ่งเป็นต้นน้ำในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้นแบบแก่ชุมชน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในระดับบุคคลก่อนลงไปส่งเสริมคนในชุมชน “จะพัฒนาใครเขา…ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน” โดยมีนางอโณทัย แก้วกิ่ง พัฒนาการอำเภอคีรีมาศ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ตำบลโตนด ,ตำบลศรีคีรีมาศ และตำบลสามพวง เข้าร่วมกิจกรรมฯ ดังกล่าว

จังหวัดสุโขทัย เตรียมความพร้อมขยายผลต่อเนื่องจากโครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ระยะที่ 1 ,2 ของกรมการพัฒนาชุมชน และโครงการ “สุโขทัยพอเพียง” ของจังหวัดสุโขทัย ในการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครบทุกครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยมี”ธนาคารพอเพียง” ในทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง แหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน พันธุ์ผัก กล้าพันธุ์ไม้ เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพึ่งตนเอง และนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร จะทำให้รอดพ้นวิกฤติสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤติคนไม่มีรายได้ ไม่มีอาหาร ไม่มีงานทำ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้จังหวัดสุโขทัย บูรณาการการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับ โครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฏีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับตำบล(CLM) 59 แห่ง จัดตั้งเป็นศูนย์กลางเพาะพันธุ์ผักชนิดต่างๆ รวมทั้งขยายผลสู่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM) ระดับครัวเรือน 1,147 ครัวเรือน โดยให้”นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ”ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จำนวน 636 คน ร่วมส่งเสริม สนับสนุน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครัวเรือนทุกครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย