ราชบุรี “กุลวลี ส.ส.ราชบุรี”นำผู้นำชุมชนและชาวบ้านดูการบูรณพระปรางค์และพระนอนหวั่นซ้ำรอย

ราชบุรี  “กุลวลี ส.ส.ราชบุรี”นำผู้นำชุมชนและชาวบ้านดูการบูรณพระปรางค์และพระนอนหวั่นซ้ำรอย

“กุลวลี ส.ส.ราชบุรี” นำผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ร่วมตรวจสอบการบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ พระปรางค์และพระนอน สมัยลพบุรี ประมาณศตวรรษที่ 21 อายุราว 533 ปี ที่วัดอรัญญิกาวาส หลังกรมศิลปากรเข้าบูรณปฏิสังขรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความคัดแย้งกันตามที่ปรากฏเป็นข่าว

(3 ส.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวที่ปรากฏในโรคโซเชียลจากการที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตามวัดวาอารามต่างๆ ที่มีการทาสี และต่อเติมเพื่อความสวยงามและเป็นไปตามยุคตามสมัย แต่กลับมีการออกมาต่อต้านของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและให้คงไว้เพื่อความเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ดังเดิม ซึ่งที่จังหวัดราชบุรี กรมศิลปากรเข้าบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ พระปรางค์และพระนอน สมัยลพบุรี ประมาณศตวรรษที่ 21 อายุราว 533 ปี ที่วัดอรัญญิกาวาส หมู่ 4 ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี

โดย น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ได้นำผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ลงพื้นที่กับนายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส ร่วมฟังแนวทางของกรมศิลปากรถึงแนวทางและวิธีการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดหายไป และไม่ให้ซ้ำรอยเหมือน “บอมเบย์เบอร์มา” ที่จังหวัดแพร่ และ “วัดหมื่นล้าน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้

น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เปิดเผยว่า เมื่อครั้งที่คณะรัฐมนตรีสัญจรของนายกรัฐมนตรี ตนได้นำเสนอโครงการเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่ ในจังหวัดราชบุรี และได้รับงบประมาณ ผ่านทางกรมศิลปากร บูรณะซ่อมแซมพระปรางค์และระเบียงคด วัดอรัญญิกาวาส ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี ด้วยงบประมาณ 19,400,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินงาน เริ่ม 15 กรกฎาคม 2563 และสิ้นสุดวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ซึ่งตนไม่อยากให้การเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ไม่ให้เกิดประเด็น และมีแนวทางที่จะบูรณะโบราณสถาน อย่างรัดกุมตามขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่

ขณะที่ นายณัฐพล ระดาฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน เปิดเผยแนวทางขอบเขตบูรณะ พระปรางค์องค์ใหญ่ และพระปรางค์บริวารซึ่งเหลือเพียงองค์เดียว ซึ่งจะบูรณะทั้ง 2 องค์ เสริมความมั่นคงลวดลายปูนปั้น ส่วนไหนที่หลุดหาย ก็จะเสริมเข้าไปทดแทน มีการซ่อมเปลี่ยนอิฐเผาโบราณแบบดั้งเดิม มีการเคลือบน้ำยาป้องกันเชื้อรา และที่สำรวจบางส่วนโดนฟ้าผ่า จะปั้นขึ้นมาใหม่ตามหลักฐานเดิม โดยรักษารูปทรงเดิมไว้ และหลังคาจากเดิมจะเป็นสังกะสี ซึ่งเราจะเปลี่ยนเป็นหลังคาขุดเจอพบกระเบื้องดินเผากาบกล้วย ซึ่งจะรื้อฟื้นกลับมาเป็นแบบเดิมตามหลักฐานที่ขุดพบทางโบราณคดี

ด้านนายสง่า จินดา ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ตนและชาวบ้านรู้สึกยินดีที่ทางกรมศิลปากรเข้าบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุวัดอรัญญิกาวาส แห่งนี้ ซึ่งมีความเก่าแก่อยู่มาก่อนที่ตนเองจะเกิด เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และชุมชน โดยทางชุมชนอยากฝากทางกรมศิลปากรบูรณะ ให้คงสภาพตามเดิมไม่ปรับปรุงแต่งผิดไปจากเดิม ทั้งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของลูกหลานต่อไป และก็ต้องขอบคุณทาง ส.ส.ราชบุรี ที่ช่วยผลักดันของบประมาณมาเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ พระปรางค์และพระนอน ที่วัดอรัญญิกาวาสนี้

สำหรับวัดอรัญญิกาวาส ตั้งอยู่ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ประมาณ 4 กิโลเมตร เดิมชื่อ “วัดเจริญธรรมวิหาร” เป็นวัดโบราณสมัยขอม ประมาณศตวรรษที่ 10 ถึง 16 มีเนื้อที่ 73 ไร่ 2 งาน 48 วา มีปูชนียสถาน คือ ปรางค์ขอม-เขมร ที่นับถือศาสนา พราหมณ์

พระปรางค์ใหญ่ และ ปรางค์เล็ก 4 มุม ปรางค์ใหญ่อยู่กลางสูงประมาณ 1 เส้น เศษ ( 40 เมตร) หลังปรางค์มีพระนอนทำด้วยหินแดงก้อน ใหญ่ ๆ เรียงก่อเป็นรูปพุทธบรรทมตะแคงขวา ยาวประมาณ 12 ศอกเศษ ( 6 เมตร) สมัยลพบุรี ประมาณศตวรรษที่ 21 เดิมเป็นวัดร้างมานาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2030 – 2035 (อายุ 533 ปี ในปี 2563) เป็นเจดีย์ 5 องค์ แบบบัวผันสร้างไว้ 4 มุม รอบพระปรางค์ ซึ่งปัจจุบันนี้เหลือทางทิศใต้เท่านั้น ลักษณะเป็นหินทราย ผู้สร้าง ขุนหาญ บุญไทย บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2425 – 2440 จึงแล้วเสร็จ รอบ ๆ องค์พระปรางค์ ประดับไปด้วยลายสลักภาพต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์ทรงครุฑ และภาพวาดเทวดาต่าง ๆ ตามความเชื่อทางลัทธิพราหมณ์

นอกจากนี้บริเวณรอบองค์พระปรางค์ยังล้อมรอบไปด้วยระเบียงคด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย พุทธศิลปะแบบอยุธยา ประดิษฐานอยู่โดยรอบ เป็นพระพุทธรูปหินแดงสมัยลพบุรี ประดิษฐานอยู่จำนวน 41 องค์ ส่วนบริเวณวัดยังมีเจดีย์ทรงระฆังกลมอีกสององค์ อยู่ทางด้านหน้าของวัด เป็นเจดีย์ศิลปะแบบลังกา ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในศิลปะสุโขทัย และอยุธยา

ส่วนด้านหลังพระปรางค์ใหญ่ ยังมีพระนอน ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2030-2035 เป็นลักษณะหินทรายแดง มีความยาว 15 วา ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ โดยการสร้างครอบองค์จริง องค์ที่สร้างใหม่ มีความยาว 30 วา ทำการบูรณะโดยท่านเจ้าพระคุณ พระมหาสมณวงค์ (แท่น) ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2515 โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ และทำการบูรณะเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ.2547 ในสมัยของพระครูมงคลเจติยานรักษ์ (พระไฝ นาคาเสโน) เป็นเจ้าอาวาส.

ประวิทย์ ลิ้มเจริญ จ.ราชบุรี