ตรัง จัดรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย “วันรพี” ประจำปี 2562

ตรัง จัดรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย “วันรพี” ประจำปี 2562

วันนี้ (7 ส.ค. 62) นายกฤษฎิ์ภีมพศ ตีระรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นำหน่วยงานในจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อกระบวนการยุติธรรม น้อมสักการะถวายพวงมาลา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เนื่องใน “วันรพี” ณ ศาลจังหวัดตรัง
เนื่องด้วยวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญคุณความดีเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ พระเกียรติคุณ และพระปรีชาญาณของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายและมากสุดล้นพ้น


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2417 ทรงศึกษาสำเร็จปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด แล้วทรงศึกษากฎหมายไทยในภายหลัง โดยมีขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เป็นพระอาจารย์ เคยทรงดำรงตำแหน่งสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ เพื่อจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมหัวเมืองทั้งปวง และสะสางคดีความทั่วราชอาณาจักร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย กรรมการตรวจตัดสินความฎีกา กรรมการตรวจตำแหน่งพนักงานในรัฐบาล กรรมการตรวจร่างกฎหมายลักษณะอาญา และเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ


พระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยทรงสอนกฎหมายด้วยพระองค์เอง ผู้เรียนสำเร็จได้รับเรียกเป็นเนติบัณฑิต ปฐมกำเนิดแห่งคำว่า “เนติบัณฑิตไทย” ในปัจจุบัน ในปี 2462 ทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาพักราชการในขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิราช เพื่อรักษาพระองค์เนื่องจากทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ และเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส แต่พระอาการหาทุเลาไม่ ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม 243 ก็เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส นับพระชนมายุเรียงปีได้ 47 พรรษา


ด้วยเหตุที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ทรงมุ่งพระทัยที่จะทำงานให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าที่จะสนพระทัยในเรื่องส่วนพระองค์ ทรงมีพระทัยเมตตาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป ทรงยึดหลักความยุติธรรม อันเป็นธรรมประจำพระทัยของพระองค์ ไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง ทรงละความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในพระทัยของพระองค์เลย ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและต่อนักกฎหมายทั้งปวงเป็นอเนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันสุดจะพรรณนา ทำให้นักกฎหมายและประชาชนทั่วไปขนานนามพระองค์ท่านว่า “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง