ตรัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 จากสถานการณ์ที่ผ่านมาได้มีการพบพะยูนเกยตื้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งทะเล จ.กระบี่และจ.ตรัง นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเสียดายเป็นอย่างมาก สำหรับสัตว์ป่าสงวนหายากที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คาดว่าอาจจะเหลือประชากรพะยูนในทะเลไทยเพียง 200 กว่าตัวเท่านั้น หลังจากได้รับทราบข่าวการเกยตื้นของพะยูนและสัตว์ทะเลหายากเป็นจำนวนมาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ทส.) ตลอดจนกรมการปกครอง ผู้นำชุมชนเกาะลิบง กลุ่มอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่น บริเวณ อ่าวดูหยง บ้านบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง


นายวราวุธ รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า หลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง จึงเดินทางไปยัง จ.ตรังเป็นที่แรก เพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการอนุบาลลูกพะยูนน้อยแบบธรรมชาติ และร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรม ทช. จากการรายงานสถานการณ์ของพะยูนเบื้องต้นทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยพบพะยูนจำนวน 200 – 250 ตัว โดยพะยูนเป็นสัตว์สงวนตามพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกทั้งยังพบการเกยตื้นของพะยูนส่วนใหญ่มักเกิดจากภัยคุกคามทางด้านการประมง 89% ป่วยตาย 10% และอื่นๆ 1% โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพบลูกพะยูนขึ้นมาเกยตื้นในพื้นที่ จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จึงได้ทำการขนย้ายมาอนุบาลในพื้นที่อ่าวดูหยง เกาะลิบง เพราะว่าในพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรของหญ้าทะเลหลากหลายสายพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมกับมีการตั้งชื่อว่า “เจ้ามาเรียม” ซึ่งในขณะนี้ทีมสัตวแพทย์จากกรม ทช. และอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยงได้ทำการดูแลเจ้ามาเรียมแบบธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ทั้ง 6 จุด เพื่อถ่ายทอดสดสัญญาณผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของกรมทช. ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมองในแง่ดีจะช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ให้กับเจ้ามาเรียม และอีกมุมหนึ่งทุกคนทั่วโลกจะได้เห็นกิจวัตรประจำวันของทีมงานสัตวแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่การป้อนนม การสอนกินหญ้าการพายเรือแม่ส้มออกไปสอนว่ายน้ำเพื่อเป็นการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ไม่เคยมีใครเห็นอย่างใกล้ชิดมาก่อน หากเจ้ามาเรียมแข็งแรงและสามารถปรับสภาพได้ดีแล้ว ก็จะปล่อยเจ้ามาเรียมกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ และในอนาคตข้างหน้านี้ กรม ทช.จะทำการฝังชิพและติดแท็กเพื่อระบุตัวตนของเจ้ามาเรียมอีกด้วย
นายวราวุธ รัฐมนตรี ทส. กล่าวต่อว่า จากนั้น ได้รับฟังการสรุปแนวทางในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ดูแลเจ้ามาเรียม พร้อมกับร่วมพบปะพูดคุยกับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลจ.ตรัง จำนวน 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อีกทั้งให้โอวาทและให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พร้อมทั้งฝากให้ทุกคนเป็นหูเป็นตาในการปกป้อง ดูแลและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ หากพบการเกยตื้นให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำการรักษาและดูแลได้ทันท่วงที
หลังจากนี้ กระทรวง ทส. จะเดินหน้าขับเคลื่อนและให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่พะยูนเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ทะเลหายากอีกหลายตัวที่ต้องช่วยกันปกป้องและดูแลตามมาตรการที่หารือกันไว้ โดยขอความร่วมมือประชาชน และผู้ประกอบการประมงในพื่นที่ช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงขอความร่วมมือไปยังผู้ที่อาศัยอยู่ชายฝั่ง เพื่อสร้างจิตสำนึกในการป้องกันและดูแลสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ ไม่ให้ได้รับผลกระทบทั้งจากขยะพลาสติก การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการล่าเอาเขี้ยวของพะยูนมาทำเป็นเครื่องลางของขลัง เพื่อให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากอยู่คู่กับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่อไป ”
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง