อุบลฯ อำเภอตระการฯ สืบสานตำนานพื้นบ้านถ่ายทอดสู่ต้นเทียน

อุบลฯ อำเภอตระการฯ สืบสานตำนานพื้นบ้านถ่ายทอดสู่ต้นเทียน
ต้นเทียนพรรษาอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านจิตวิญญาณ วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนอุบลฯ สู่ต้นเทียน ทศชาติชาดก ผสมความลงตัวของนกในตำนานพื้นบ้านของชาวตระการฯ
ที่ วัดร่องข่า ตำบลโนนกุง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี พระครูเกษมธรรมานุวัตร รักษาการเจ้าคณะอำเภอตระการพืชผล เจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ พร้อมด้วย นายสมมาฏฐ์ โพธิ นายอำเภอตระการพืชผล ,พระครูพิสิฐธรรมทัศน์ เจ้าอาวาสวัดร่องข่า ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านผู้สูงอายุ เด็กเยาวชน ได้ร่วมในกิจกรรมเยือนชุมชนคนทำเทียน อำเภอตระการพืชผล ประกอบไปด้วย การหล่อเทียน เทเทียน พิมพ์ลายเทียน ตัดลายเทียน และ ติดเทียน

พระครูเกษมธรรมานุวัตร รักษาการเจ้าคณะอำเภอตระการพืชผล กล่าวว่า ชาวอำเภอตระการพืชผล ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ ท้องถิ่น ตลอดจนพี่น้องประชาชน ได้มีแรงศรัทธา ความตั้งใจร่วมกัน ที่จะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี โดยการช่วยกันทำต้นเทียน ให้สำเร็จงดงาม ก่อนถึงวันเข้าพรรษา เรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณหรือวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนอุบลฯ ก็ว่าได้ ที่พอถึงช่วงเวลาการทำเทียนชาวบ้านจะออกมาช่วยกันทำเทียนมา หล่อเทียนมาติดพิมพ์มาแกะสลัก กันอย่างสามัคคี ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่งนัก
พระครูพิสิฐธรรมทัศน์ เจ้าอาวาสวัดร่องข่า กล่าวว่า ต้นเทียนพรรษาของอำเภอตระการพืชผลที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันทำในครั้งนี้ เป็นต้นเทียน ประเภทติดพิมพ์ ขนาดกลาง ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ส่วนหน้าจะเป็นพญาคชสีห์ ขนาบข้าง ซ้าย-ขวา ด้วย ด้วย นกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นนกในตำนานของอำเภอตระการพืชผล ต่อด้วย พระเวสสันดรตอนให้ทานพระนางมัทรี แก่พระอินทร์ที่จำแลงกานเป็นพราหมณ์ที่ทูลขอพระนาง ลำต้นเทียนนั้นเป็นลักษณะทรงกลม หมายถึงหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ย่อลงได้เพียงหนึ่งเดียวคือ “ความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต” ส่วนท้าย เป็นตอนที่พระเวสสันดรได้เสด็จกลับเข้าสู่เมือง โดยทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์ ซึ่งเป็นช้างเผือกคู่บารมี พร้อมด้วยบริวาร และ จุดเด่นของต้นเทียน ที่สำคัญก็คือ การนำ นกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นนกในตำนานที่ขึ้นชื่อของอำเภอตระการพืชผล ที่มีส่วนหัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก มีพลังเทียบเท่าพญาช้างสาร มาเป็นองค์ประกอบ และยังมีพญานาค เทวดาต่างๆ ประกอบบนต้นเทียน
พระครูพิสิฐธรรมทัศน์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ชาวบ้านรอบๆ วัดได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำเทียนกับวัดมาโดยตลอด พอถึงช่วงใกล้จะเข้าเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา ก็มาช่วยกันทำเทียนในส่วนต่างๆ บางคนไม่มีเวลา ก็นำเทียนกลับไปแกะที่บ้าน เสร็จแล้วก็นำมาส่งคืนให้ที่วัดก็มี ตอนเช้าๆ ก็จะมีนักเรียนมาช่วยกันแกะสลักเทียน พอถึงเวลาเรียนก็เข้าไปเรียนหนังสือ พอเลิกเรียนก็จะมาทำต่อ ยิ่งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีผู้ปกครอง พาเด็กๆ มาทำเทียนเยอะมาก นับเป็นความน่าชื่นชมกันการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ที่ดีมากๆ
ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานี จะจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี ประจำปี 2562 ภายใต้ชื่องาน 118 ปี เทียนพรรษา เทิดราชาขวัญแผ่นดิน (Ubon Ratchathani Candle Festival 2019) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 กรกฎาคม 2562 ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ขบวนฟ้อนรำ แสดงวิถีชีวิตคนอุบล ศิลปะ วัฒนธรรม, การจัดขบวนแห่เทียนพรรษา อีกทั้งยังได้มีการจัดแสดงต้นเทียนไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความปราณีตงดงาม ของการแกะสลักเทียนพรรษาที่สวยสดงดงาม

ธนัชชัย​ จึง​เจริญ​ รายงาน​