เกษตรจังหวัดตรังพร้อมเดินหน้ามาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดซึ่งเกษตรกรต้องผ่านการอบรมก่อนถึงจะสามารถซื้อสารมาใช้

เกษตรจังหวัดตรังพร้อมเดินหน้ามาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดซึ่งเกษตรกรต้องผ่านการอบรมก่อนถึงจะสามารถซื้อสารมาใช้ อีกทั้งเกษตรกรที่ใช้สารต้องไม่ฉีดพ่นสารใกล้แหล่งต้นน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางมลพิษ


นายมานพ แก้วอัมพร เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวว่าตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีประกาศเกี่ยวกับการจำกัดใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จำนวน 5 ฉบับ โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นคือ 1.การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลาก และภาชนะบรรจุ วัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับ พาราควอต ไกลโฟเชตและคลอร์ไพริฟอส 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขาย ซึ่งวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้

และ 3.การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เฉพาะวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับ พาราควอตไกลโฟเชต และคลอร์ไพริฟอส 3 ชนิดนี้ และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้เกษตรกรผู้ต้องการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ต้องผ่านการอบรมและทดสอบความรู้จึงจะได้รับสิทธิ์ซื้อสารเคมีดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในสังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง (ครู ข) เข้ารับการอบรมหลักสูตร “การใช้วัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเชต และคลอร์ไพริฟอสให้ถูกต้องและปลอดภัย” ของกรมวิชาการเกษตรแล้ว จำนวน 42 คน เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเหล่านี้ จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรนำความรู้ที่ได้รับทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกร แล้วเกษตรกรจะเข้ารับการทดสอบความรู้ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ก่อนนำไปซื้อสารเคมี 3 ชนิดต่อไป
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะรับสมัคร อบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ผล พืชไร่ และไม้ดอก เท่านั้น สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและอ้อย ให้ติดต่อได้ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะสมัครเข้ารับการอบรมหรือการสอบ จะต้องปลูกพืช ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด พืชไร่ ไม้ผลและไม้ดอก และขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น ต้องไม่มีพื้นที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ และผู้สมัครขอสิทธิ์จะต้องมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป สำหรับช่องทางการเรียนรู้ (เลือกได้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป) มี 3 ช่องทางคือ 1.เมนูเข้ารับการอบรมโดยวิทยากร (ครู ข) เริ่มอบรม 1 สิงหาคม 2562 จัดอบรมเกษตรกรโดยวิทยากรครู ข ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ซึ่งหลังจากอบรมเสร็จสิ้น จะมีการทดสอบ ณ สถานที่อบรมนั้น ซึ่งเกษตรกรผู้ประสงค์เข้ารับการอบรมจะต้องเลือกสถานที่และวันที่อบรมจากระบบ ซึ่งมีสำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการ 2.เมนู การเรียนรู้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) เริ่มเรียนได้วันที่ 20 มิถุนายน 2562 เกษตรกรสามารถสมัครและเข้าเรียนได้ตามอัธยาศัย สมัครและเรียนได้ที่เวปไซต์ http://elearning.doae.go.th เมื่อเรียนจบแล้ว และต้องการสมัครเข้ารับการทดสอบให้ไปที่หัวข้อ “สมัครเข้ารับการทดสอบ” 3.เมนู สมัครเข้ารับการทดสอบ เริ่มสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป เกษตรกรผู้ประสบเข้ารับการทดสอบจะต้องเลือกสถานที่ วันที่ ช่วงสอบ และจำนวนผู้เข้าสอบจากระบบ สำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการจัดเตรียมสถานที่สอบต้องไม่น้อยกว่า 1 แห่งต่อ 1 อำเภอ กำหนดวันที่สอบไม่น้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ จำนวนผู้เข้าสอบไม่น้อยกว่า 150 คนต่อสัปดาห์ โดยจะบันทึกข้อมูลในระบบ http://chem.doae.go.th ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป และดำเนินการจัดสอบให้ผู้สมัครที่เลือกเมนู 2 (การเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) และเมนู 3 (สมัครเข้ารับการสอบ) โดยจะเริ่มดำเนินการสอบตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ซึ่งระบบการทดสอบเป็นแบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตรเป็นข้อสอบแบบถูก-ผิด จำนวน 20 ข้อ (เกณฑ์การผ่าน 15 ข้อ) ตอบผ่าน PC/Tablet/Smart Phone ซึ่งผลการสอบมี 2 กรณี คือ กรณีที่สอบผ่าน ระบบจะบันทึกในฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรโดยอัตโนมัติ สามารถซื้อสารเคมีได้ และกรณีที่สอบไม่ผ่านให้สอบใหม่ในช่วงเวลาของการสอบนั้นอีก 1 รอบ หากยังไม่ผ่านการทดสอบต้องเข้าไปสมัครสอบใหม่อีกครั้ง สำหรับข้อกำหนดที่เกษตรกรควรรู้ตามประกาศจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ สารพาราควอต และไกลโฟเชต อนุญาตให้ใช้กำจัดวัชพืช เฉพาะในแปลงปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ส่วนคลอร์ไพริฟอส อนุญาตให้ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เฉพาะในแปลงปลูกไม้ดอก พืชไร่ และไม้ผล ซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะกรณีต้องการกำจัดหนอนเจาะลำต้นเท่านั้น นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ 4 ประเภทที่ห้ามใช้เด็ดขาด ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ปลูกผัก และพื้นที่ปลูกสมุนไพร ส่วนระยะเวลาที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชต้องแจ้งข้อมูลในทะเบียนเกษตรกร คือ ข้าวโพดมันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ต้องดำเนินการแจ้งภายหลังการปลูก 15-60 วัน ปาล์มน้ำมันยางพารา และไม้ผล ให้แจ้งภายหลังการปลูกแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน กรณีที่ยืนต้นอยู่ให้เกษตรกรแจ้งปรับปรุงข้อมูลทุกปี ส่วนพืชอื่น ๆ ให้แจ้งภายหลังปลูกแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง