กาญจนบุรี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดจัดกิจกรรมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู(โปรแกรมใจพร้อม)

กาญจนบุรี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาญจนบุรี จัดกิจกรรมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู โปรแกรมพื้นฐาน(โปรแกรมใจพร้อม) ประจำปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้กระทำผิด และยับยั้งตนเองไม่ให้หวนกลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือกระทำในความผิดซ้ำได้อีก

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี(สามสงฆ์ทรงพระคุณ) ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายสุภาษิต กาฬหว้า ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม โปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู โปรแกรมพื้นฐาน(โปรแกรมใจพร้อม) ประจำปี 2567โดยมี นางตะติมา นุ้ยฉิม ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมฯ และนายอำนาจ คำสาร ผู้อำนวยการอำนวยศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี(สามสงฆ์ทรงพระคุณ) พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ อาสาสมัครคุมประพฤติจังหวัดกาญจนบุรี คณะวิทยากร และผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 40 คน ให้การต้อนรับฯ


สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาญจนบุรี สังกัดกรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ด้วยการพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก และกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ รวมไปถึงนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนกำหนดพักการลงโทษ และลดวันต้องโทษ ที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ให้ไปในทิศทางที่ดีไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาผู้ถูกคุมความประพฤติส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ถูกคุมความประพฤติทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีปัญหาการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดให้โทษอยู่จำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสงบสุขของชุมชน สังคม


โดยการจัดโครงการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด และในฐานความผิดอื่นๆและมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้กระทำผิดที่เข้าร่วมโปรแกรมเกิดความพร้อม 5 ประการ ได้แก่ พร้อมเปิดใจ สำรวจทบทวนตนเอง พร้อมต้อนรับประสบการณ์และโอกาสใหม่ๆ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และพร้อมพัฒนาตนเป็นคนใหม่จะทำให้ผู้กระทำผิดเห็นคุณค่าตนเองและคนรอบข้าง ได้ทบทวนตนเอง ตระหนักในต้นทุนชีวิต ที่ตนเองมีได้แนวทางในการริเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์และมีแนวทางในการพัฒนาตนเอง และยับยั้งตนเองไม่ให้หวนกลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือกระทำในความผิดซ้ำได้อีก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยอมรับจากครอบครัว และชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และส่วนรวม ที่ได้รับโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขอันนำไปสู่การป้องกันการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการกระทำความผิดซ้ำ สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนในการแก้ไข และป้องกันให้เกิดความปลอดภัยในชุมชนอย่างจริงจังด้วยการเป็นคนดีในครอบครัว ชุมชน สังคมต่อไป
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี