กาญจนบุรี   ชุมชนลาวเวียงตะคร้ำเอน สืบสานประเพณีโบราณการทำกระยาสารท

กาญจนบุรี   ชุมชนลาวเวียงตะคร้ำเอน จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีโบราณการทำกระยาสารท
วันที่ 29 กันยายน 2566 ที่วัดตะคร้ำเอน ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยทางพระครูวิสาลกาญจนกิจ รองเจ้าคณะอำเภอท่ามะกา เจ้าอาวาสวัดตะคร้ำเอน ให้มีการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีโบราณการทำกระยาสารท ก่อนวันสารทไทย 1 วัน คือวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ทางวัดได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำประกอบขนมกะยาสารท เช่น ถั่ว ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำตาล เพื่อให้ชาวบ้านชุมชนลาวเวียง ตะคร้ำเอน และใกล้เคียงได้เดินทางมาร่วมในการทำขนมกะยาสารท ซึ่งวันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันสารทไทย


ซึ่งเป็นประเพณีดั่งเดิมของชาวลาวเวียงที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีตั้งแต่อดีตโดยกิจกรรมจะมีชาวบ้านในชุมชนมาร่วมกันทำกระยาสารท หลังจากนั้นก็จะมีการตั้งขบวนแห่ภายในชุมชน ซึ่งภายในขบวนแห่ก็จะมีเด็กนักเรียน และชาวบ้าน แต่งกายด้วยชุดพื้นบ้านลาวเวียง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีการหาบตะกร้าภายในจะมีกระยาสารทและผลลองกองใส่เอาไว้ โดยขบวนจะเคลื่อนตัวมาที่วัดและทำการเวียนรอบอุโบสถจำนวนหนึ่งรอบ ในขบวนจะมีคณะกองยาวสร้างเสียงดนตรีตลอดเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน จากนั้นก็จะนำตะกร้าที่บรรจุกระสารทหาบขึ้นไปบนศาลาเพื่อถวายให้พระสงฆ์ต่อไป


พระครูวิสาลกาญจนกิจ รองเจ้าคณะอำเภอท่ามะกา บอกว่า ซึ่งประเพณีนี้มันมีมานานแล้วเรียกว่าสารทลาว ในชุมชนตะคร้ำเอนจะมีคนลาวอาศัยอยู่เยอะ ซึ่งก่อนหน้านี้คนในชุมชนก็ทำกระยาสารทกันทุกปี แต่ว่าไม่ได้ทำเป็นขบวนแห่ ห่อ ตำข้าวเม่า โดยปีนี้เงียบมานานแล้ว ก็เลยทำการปรึกษาคณะกรรมการและชาวบ้าน ว่าปีนี้น่าจะมีการจัดงานกิจกรรมเล็กๆขึ้น เพื่อนำประเพณีของชุมชนลาวเวียงที่ดีงามนี้ เอาไว้กับคนในชุมชน ก็เลยให้มีการจัดงานตำข้าวเม่าขึ้น คั่วข้าวเม่า กวนกระยาสารท และให้มีขบวนแห่ที่สวยงามเพื่อรักษาประเพณีสารทลาวเอาไว้ซึ่งต่อไป


ทางด้านนายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี เขต 3 บอกว่า ซึ่งประเพณีดังกล่าวนี้เป็นประเพณีโบราณของชาวลาวเวียงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนตะคร้ำเอนมายาวนาน โดยทางวัดตะคร้ำเอนนั้นได้มีการจัดกิจกรรมกันมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งเมื่อสามปีที่แล้วได้เกิดโรคระบาดโควิดขึ้นทำให้กิจกรรมดังกล่าวนี้หยุดไป ภายหลังสถานการณ์เริ่มดีขึ้นทางวัดก็ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาอีกครั้งซึ่งเป็นกิจกรรมประเพณีโบราณที่ดีงาม อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชนรวมไปถึงการรักษาประเพณีโบราณให้คงอยู่คู่กับคนตะคร้ำเอนสืบต่อไปอีกด้วย.
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี