ตรัง ติดตามโครงการศึกษากำหนดแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลเกาะลิบง

คณะทำงานยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาและกำหนดแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลเกาะลิบง หลังจากที่มีการขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่า แล้วนำตะกอนดินไปทิ้ง ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเลและสัตว์น้ำวัยอ่อน ในขณะนี้ได้ระงับการขุดลอกไปแล้ว เพื่อรอผลการทำความร่วมมือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมเตรียมจัดหางบประมาณในการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาและกำหนดแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลเกาะลิบง โดยมีผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 พร้อมด้วย นายไมตรี แสงอริยนันท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 ตรัง และเจ้าหน้าที่ร่วมให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่ จากกรณี โครงการขุดลอกร่องน้ำ บริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิม 60 เมตร เป็น 90 เมตร และความลึกมากกว่าเดิม 1 – 2 เมตร กรมเจ้าท่าเตรียมเดินหน้าดำเนินการในปี 2565 หลายฝ่ายเริ่มกังวล เตรียมหารือแนวทางป้องกันผลกระทบ แหล่งหญ้าทะเลและระบบนิเวศทางทะเล


สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ของคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ เพื่อรับฟังสถานภาพ และสภาพปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลของเกาะลิบงและจังหวัดตรัง โดยช่วงเช้าได้เดินทางมาที่ท่าเรือควนตุ้งกู ต.บางสัก อ.กันตัง ขึ้นเรือของกรมทรพยากรทางทะเลและชายฝั่งออกสำรวจแนวหญ้าทะเลบริเวณเกาะมุกด์และบริเวณหน้าที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จากนั้น ได้เดินทางไปที่ห้องประชุม โรงเรียนบ้านปาตูปูเต๊ะ หมู่ 4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ประชุมหารือเพื่อแนวทางการอนุรักษ์หญ้าทะเลโดยมีนายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาฯอันดามันตอนล่าง นายพรเทพ วิรัชวงษ์ นักวิชาการหญ้าทะเล มทร.ศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง และนายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สทช.7 ฝ่ายปกครอง อบต.เกาะลิบง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิอันดามัน กลุ่มพิทักษ์ดุหยงและชาวบ้าน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เกาะลิบง ก่อนที่ประชุมได้มีมติร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการร่วมศึกษาผลกระทบจากการขุดร่องน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเลและพะยูน ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล จ.ตรัง พิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ น.ส.กัญจณา พร้อมดำเนินการหางบประมาณในการอนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนอีกทาง ก่อนเดินทางไปสะพานยาวเพื่อร่วมปรับโครงสร้างดิน เติมเปลือกหอยฟื้นฟูหญ้าชะเงาใบยาวในแปลงทดลอง ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการแผนอนุรักษ์พะยูนจังหวัดตรัง ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ร่วมประชุมหารือในประเด็นเรื่องการขุดลอกร่องน้ำการตั้งในครั้งนี้ด้วยโดยมีมติที่ประชุมและฝ่ายเลขาคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมเจ้าท่าให้ศึกษาข้อมูลผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เกิดจากการขุดลอก

ทั้งในพื้นที่ที่ทำการขุดลอกและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีความชัดเจนและให้ครอบคลุมทุกมิติ หาวิธีการป้องกันมิให้ตะกอนที่เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำ ขยายวงกว้างทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขณะที่ด้านสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 ได้เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลโดยได้รับงบประมาณจากแผนพัฒนาจังหวัดตรัง ปีงบประมาณ 2565 ในชื่อโครงการ “อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง โดยจุปลูกและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเพื่อเป็นอาหารของพะยูนใน 4 พื้นที่ในอำเภอสิเกา ประกอบด้วย อ่าวบุญคง หาดคลองสน ชายฝั่งบ้านปากคลอง และชายฝั่งบ้านแหลมไทร นอกจากนี้ยังได้มีการมอบเงินจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือครอบครัวของนายสมสิทธิ์ ดำทั่ว ที่เยชีวิตจากการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่จมน้ำ นายสมสิทธิ์ ลงไปช่วยทำให้นักท่องเที่ยวรอดชีวิตแต่ตัวนายสมสิทธ์ เสียชีวิต สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง