นครปฐม นายอำเภอสามพราน ตรวจเยี่ยมการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่

นายอำเภอสามพราน ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการ คัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่โรงเรียนวัดไร่ขิง(สุนทรอุทิศ) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิกาญจนบารมีจัดหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่(Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส  ในจังหวัดนครปฐม  โดยมูลนิธิกาญจนบารมีร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ซึ่งเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ วันที่28 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงวันที่4มีนาคม2565 ณ ที่ว่าการอำเภอบางเลน  ไปแล้ว และในระหว่างวันที่7-11 มีนาคม2565 ให้บริการที่โรงเรียนวัดไร่ขิง(สุนทรอุทิศ) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

โดยมีนายพัฒนพงษ์ สร้อยอินทรากุล นายอำเภอสามพราน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการ คัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ 70พรรษา ซึ่งมี นายแพทย์ทินกร ชื่นชม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นายประมวล โฆษิตชัยมงคล สาธารณสุขอำเภอสามพราน นายจำรัส ตั้งตระกูลธรรม นายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง นายสกนธ์ วงศ์สุกฤต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไร่ขิง(สุนทรอุทิศ) พร้อมด้วย นางพัชรี เกษรบุญนาค  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน นายวุฒิชัย วังพรม รองนายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง เจ้าหน้าสาธารณสุขและอสม. ร่วมให้การต้อนรับ   โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้ ลดความรุนแรงและลดอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม

จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและตายอันดับ 1 ของสตรีไทย เมื่อปี 2558 พบอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมคิดเป็น ร้อยละ 28.6 ต่อประชากรแสนคน และมีอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป และช่วงอายุ 30 – 35 ปี มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ช้าซึ่งมักจะมีการลุกลามและแพร่กระจายไปแล้ว ร้อยละ 56 สาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือการตรวจเพื่อค้นหาให้ได้เร็วที่สุด

ซึ่งการตรวจมีอยู่ 3 วิธี คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่การให้บริการยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการตรวจเต้านมได้ด้วยตนเองนั้นจะสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายจะลดความรุนแรงของการเป็นมะเร็งเต้านมและสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 80 – 90 %