อยุธยา ผู้ว่าฯ ประกาศ Kick Off โครงการ “อยุธยาโมเดล”

อยุธยา  ผู้ว่าฯ ประกาศ Kick Off โครงการ “อยุธยาโมเดล” และมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานประกอบกิจการที่มีส่วนร่วมพัฒนาฯ 10 โรงงานต้นแบบ พร้อมเสวนา “กว่าจะมาเป็น อยุธยาโมเดล” เป็นแนวทางให้สถานประกอบการภายในจังหวัดและจังหวัดอื่นได้นำไปใช้ต่อได้


วันที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ห้องประชุมอโยธยา ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานประกาศ Kick Off โครงการ “อยุธยาโมเดล” และมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานประกอบกิจการที่มีส่วนร่วมการพัฒนาฯ 10 โรงงานต้นแบบมาตรฐานในการจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 พร้อมทั้งจัดการเสวนา “กว่าจะมาเป็น อยุธยาโมเดล” ในวันนี้ โดยมี นายวิรัช ประวันเตา รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการควบคุมโรค นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ ประธานสภาอุตสาหกรรม ผู้บริหารสถานประกอบการ ทั้ง 10 แห่งที่ร่วมโครงการ “อยุธยาโมเดล” และสถานประกอบการทุกแห่งที่ เข้าร่วมรับฟังการเสวนาผ่านระบบออนไลน์

นายภานุ แย้มศรี กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีโรงงานประมาณ 2,700 โรง มีพนักงานประมาณกว่า 3 แสนกว่าคน จากข้อมูลของการประกันตนในระบบประกันสังคม อุตสาหกรรมของพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งรายได้ของ GPP จังหวัด ถึง 68 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อในกลุ่มของโรงงาน สถานประกอบการเป็นกลุ่มใหญ่ระดับต้นๆของจังหวัด โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแผนที่จะพัฒนาแนวทางในการสร้างโรงงานต้นแบบ ที่มีการควบคุมโรคป้องกันการแพร่ระบาดโรค โควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นได้ใช้ต่อไป เราเรียกสิ่งที่เราทำว่า ”อยุธยาโมเดล” โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สวัสดิการฯ อุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น มาดำเนินงานร่วมกันโดยคัดเลือกโรงงาน 10 กว่าแห่ง เป็นทั้งโรงงานที่เคยพบผู้ติดเชื้อมาแล้ว และทางคณะกรรมการควบคุมโรคสั่งปิด เพื่อปรับปรุงและกำหนดมาตรการควบคุมโรค ได้คัดเลือกมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อที่จะสร้าง SOP (Standard Operation Procedure) ขึ้นมา โดยหวังว่าสถานประกอบการทั้งหลายของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสามารถมีมาตรการที่ดี ในการควบคุมโรค และดูแลพนักงานภายในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้ด้วยความเรียบร้อยไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค สำคัญที่สุดคือจะทำให้ไม่มีการปิดโรงงานปิดกิจการ แม้จะมีพบผู้ติดเชื้อ ให้มีแนวทางที่ดีในการควบคุมโรคและยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ นั่นคือเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะได้เป็นแนวทางที่จังหวัดอื่นได้นำไปใช้ต่อได้
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เว็ปไซต์ : https://ayutthaya.prd.go.th(ชาญ ชูกลิ่น รายงาน)