อุบลราชธานี พช. ช่วยประชาชน ติดตามสนับสนุน “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” อ.ตระการพืชผล

พช. ช่วยประชาชน ติดตามสนับสนุน “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี พร้อมเอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว และพืชสมุนไพร สู้ภัยโควิด-19

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางคำประไพ รักษาขันธ์ พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล ร่วมกับ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการและตรวจรับงาน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” พร้อมพัฒนาพื้นที่ เอามื้อสามัคคี ปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร ในพื้นที่ ตำบลขามเปี้ย​ ตำบลโนนกุง​ ​ตำบลหนองเต่า ตำบลห้วยฝ้าย​ ตำบลโคกจาน​ และตำบลตากแดด​ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมฯ ได้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ติดตามสนับสนุนการพัฒนา​พื้นที่ศูนย์​เรียนรู้​การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality oflife : HLM) และแปลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้​ชุมชน​ต้นแบบการพัฒนา​คุณภาพ​ชีวิต​ระดับตำบล ​​(Community Lab Model for quality of Life : CLM) เพื่อพัฒนาพื้นที่ เอามื้อสามัคคี ปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร ในพื้นที่ตำบลขามเปี้ย​ ตำบลโนนกุง​ ​ตำบลหนองเต่า ตำบลห้วยฝ้าย​ ตำบลโคกจาน​ และตำบลตากแดด​ จำนวน 9 แปลง ได้แก่ นายสายันต์ แก้วพรม, นางมาลัย อ่อนท้าว, นางสาคร ศรีเรือง, นางณีระวรรณ เถาพันธุ์, นางคำผ่อน อ่อนท้าว, นางจันที เผ่าสิงห์, นายอุดร หานะสาร, นางพูลทรัพย์ ไม้น้อย, นางสมคิด​ บุญ​ประสิทธิ์ ซึ่งคณะตรวจติดตามฯ ได้พบปะและให้คำแนะนำเจ้าของแปลงในการวางแผนเพื่อจัดกิจกรรมขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และจัดกิจกรรมเครือข่ายการเรียนรู้แก่ชุมชนผ่านการเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้ว นอกจากนั้น ยังได้ให้คำแนะนำและห่วงใยพื้นที่แปลง ถึงแม้การพัฒนาพื้นที่จะดำเนินตามแบบโคกหนองนา และแนวทางมาตฐานกรมฯ แต่เนื่องจากฝนที่ตกอย่างหนักในช่วงนี้ จึงขอให้ครัวเรือนต้นแบบได้นำพืชมาปลูกบริเวณคันดินและดำเนินการคลุมดิน เพื่อให้คันดินยึดกันได้ดีขึ้น พร้อมกันนี้ ขอให้พัฒนาพื้นที่เพื่อปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และปลูกพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร เพื่อป้องกันและบรรเทาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงแนะนำให้จัดทำแผนและวางแผนการจัดกิจกรรมเครือข่ายเอามื้อสามัคคีต่อไปด้วย

ในส่วนของความรู้สึกเจ้าของแปลงฯ ต่างก็ดีใจและมีความสุขมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมขอบคุณภาครัฐ ที่มาช่วยชีวิตให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เพราะพื้นที่ทำกิน แต่ละแห่งถือเป็นชีวิตจิตใจในการเลี้ยงชีพ ซึ่งแต่เดิมในการทำเกษตรนั้น ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล บางปีฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำทำการเกษตร เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ จึงมีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 5 ปี ต่อจากนี้ เช่น คันทองคำ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตลอดจนการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพืชสมุนไพร เช่น กระชาย และฟ้าทลายโจร เพื่อป้องกันและบรรเทาโรคโควิด-19 ก่อนขยายผลให้เป็นครัวเรือนตัวอย่างและศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือน รวมถึงรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชน ในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ในขณะนี้

ขณะที่ นางคำประไพ รักษาขันธ์ พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล ได้พบปะกับเจ้าของแปลงครัวเรือนพัฒนา และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) พร้อมชื่นชมแปลงที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยว่า “ถือว่าทุกท่านโชคดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากโครงการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสาน รักษา และต่อยอด สู่รัชกาลที่ 10 การยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่ หากเจ้าของแปลงหรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีเหตุขัดข้องหรือข้อสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน อันจะทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว มีแปลงตัวอย่างที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ สามารถการพึ่งตนเองให้รู้จักสร้างทางรอดในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป”

ในส่วนของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม ถึงการที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน ในพื้นที่แปลงโดยปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา และพริก โดยเฉพาะการปลูกกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร เพราะถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้ โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ให้เกิดความต่อเนื่อง ให้เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และความรักห่วงใยพี่น้องประชาชน จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.ตระการพืชผล.. ภาพข่าว/รายงาน