สุพรรณ เกษตรขับเคลื่อนโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนOneStopService

เกษตรสุพรรณขับเคลื่อนโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนOneStopService
กรมส่งเริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ ที่จะนำไปสู่การเกษตรอัจฉริยะ โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง เหมาะสมตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างแม่นยำเฉพาะพื้นที่ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ทำให้ต้นพืชมีความแข็งแรงต้านทานต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตของตนเอง


นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดสุพรรณบุรีได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.)ในพื้นที่ทุกอำเภอตั้งแต่ปี 2558 มีบริหารจัดการศูนย์ฯโดยเกษตรกร เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปสู่ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการด้านดินและปุ๋ยของชุมชน ดังนั้น ในปีนี้ จึงได้พัฒนาต่อยอดให้ศูนย์ดังกล่าวสามารถดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เป็นการขยายผลการเกษตรแม่นยำสู่เกษตรกรในพื้นที่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ 6 อำเภอประกอบด้วย อำเภอเดิมบางนางบวช ศรีประจันต์ ดอนเจดีย์ สองพี่น้อง สามชุก และอำเภอหนองหญ้าไซ


โดยขั้นตอนแรกจะมีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิค และการบริหารธุรกิจ ให้แก่สมาชิก ศดปช. จำนวน 2 ครั้ง เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจโครงการ ทบทวนด้านเทคนิค ร่วม พิจารณาแนวทางการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และครุภัณฑ์ของโครงการ การบริหารจัดการ การวางแผนการให้บริการ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม จัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายตัวแทน ศดปช. ศพก. และแปลงใหญ่ ที่เป็นเป้าหมาย อีก 2 ครั้ง เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจโครงการ ความรู้เรื่องดินและปุ๋ยที่ถูกต้อง เทคนิคและประโยชน์ จากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและนำไปประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกได้รับทราบและมาใช้บริการการตรวจ วิเคราะห์ดิน ขั้นตอนต่อไปคือจัดหาวัสดุอุปกรณ์และครุภัณฑ์ โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน (Soil test kit) จำนวน 10 ชุด/ศูนย์, แม่ปุ๋ย 3 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0 จำนวน 60 กระสอบ สูตร 18-46-0 จำนวน 30 กระสอบ สูตร 0-0-60 จำนวน 30 กระสอบ รวมทั้งสิ้น 120 กระสอบ/ศูนย์ และเครื่องผสมปุ๋ย จำนวน 1 เครื่อง/ศูนย์ โดยให้คณะกรรมการ ศดปช. ร่วมกับสมาชิก ศดปช. บริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ เพื่อให้ เกิดประโยชน์แก่สมาชิก และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยของชุมชน ทั้งนี้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน แปลผล ให้คำแนะนำ การจัดการดินและปุ๋ยเบื้องต้น การรวบรวมความต้องการและจัดหาแม่ปุ๋ยมาจำหน่าย และบริการผสมปุ๋ย ให้แก่เกษตรกรเป้าหมายในโครงการและเกษตรกรทั่วไปที่มาใช้บริการ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เป็นการพัฒนา ยกระดับอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

 


นายพิพัฒน์ โตสวน ประธานศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชนเนินพระปรางค์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และรู้จักการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องกับความต้องการของพืช โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลเนินพระปราง มีการทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก ความต้องการใช้ปุ๋ยในพื้นที่มีมาก การใช้ปุ๋ยของเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ตามความเคยชิน ประกอบกับปัจจุบัน ราคาปุ๋ยในท้องตลาดมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นตาม ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน การส่งเสริมและสนับสนุนแม่ปุ๋ยให้เกษตรกรได้ผสมใช้เองจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างตรงจุด เนื่องจากแม่ปุ๋ยจะมีราคาถูกกว่าปุ๋ยสูตร และสามารถผสมเป็นสูตรต่างๆ ได้ตามความต้องการของเกษตรกรสมาชิก อีกทั้งกลุ่มยังได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยจากโครงการ ทำให้ง่ายต่อการดำเนินงานเพราะสะดวก ประหยัดเวลา ลดปัญหาการใช้แรงงานคน เกษตรกรสมาชิกได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ ที่สำคัญมีราคาถูก ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตในด้านการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่มีเกษตรกรหลายๆกลุ่มเข้ามาศึกษา เรียนรู้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มเครือข่ายเพิ่มขึ้น
จากการดำเนินงานโครงการฯดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและหาวิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการเกษตรกรของภาครัฐเพื่อจะสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืน สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นฐานรากใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้ให้เกิดความมั่นคง แข็งแรงต่ออาชีพเกษตรกรต่อไป
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี