การปฏิรูปสาธารณสุขไทยหลัง COVID-19 สู่ New Normal Healthcare

การปฏิรูปสาธารณสุขไทยหลัง COVID-19 สู่ New Normal Healthcare

 “การสาธารณสุขของไทยต่อจากนี้ไปจะไม่มีวันเหมือนเดิม” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “การปฏิรูปสาธารณสุขไทยหลัง COVID-19” ในหลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity for Executives (WHB) รุ่น 1

 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร กล่าวว่า “ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 การสาธารณสุขก็มีการปรับตัวเพราะ Technology Disruptions และ Digital Transformation เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอยู่แล้วทั้ง Internet of Things (IoT), Big Data, Blockchain, Robotics and Automation และ Automation System เป็นต้น แต่การเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงอย่างแท้จริง ทั้งรวดเร็วและรุนแรงในเรื่องของการดำเนินชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่ม Healthcare หรือการสาธารณสุข”

จากข้อมูลของ World Economic Forum ได้มองทิศทางของการปรับตัวด้านการแพทย์และการสาธารณสุขก่อนการเกิดการระบาดของ COVID-19 ไว้ว่าจะต้องนำ Digital Transformation มาเป็นเครื่องมือ รวมถึงการเปลี่ยน Mindset จากการรักษา เป็นการป้องกันและดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการรักษาแบบ Personalized Healthcare หรือการมุ่งเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก เน้นการดูแลรักษานอกสถานพยาบาล ดูแลที่บ้านและในชุมชนมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในรูปแบบ Care Anywhere, Smart Care, Empowered Care และ Intelligent Health Enterprises ประกอบกับภาวะคุกคามสำคัญที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพในอีก 10-15 ปีข้างหน้าของประเทศไทย ได้แก่ 1. โรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ 2. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ที่เพิ่มสูงมากขึ้น และ 3. สังคมผู้สูงวัย ซึ่งผลที่ตามคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศและผู้ที่อยู่ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อสุขภาพกลายมาเป็นตัวกำหนดภาวะทางสังคมแล้ว หลัง COVID-19 จะนำสู่ New Normal Healthcare  ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อม คือ 1. 2P Safety ได้แก่ Patient และ Personnel เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เป็นสำคัญ มีการรักษาเฉพาะตัวมากขึ้น 2. Non-Crowded ลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาล และ 3. Health Equity ไม่มีความเหลื่อมล้ำของการได้รับการรักษา ซึ่งทั้ง 3 ข้อจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ผังการปฏิบัติงาน (Workflow) การพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล (Personnel) และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ (Equipment) รวมถึงการนำเอา Digital Solution มาช่วยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ การแพทย์และสาธารณสุขต้องนำ Digital or Smart Healthcare อาทิ Personalized Data, Blockchain, Virtual Hospital และ Wearable Medical Devices เป็นต้น มาใช้ในการทำงาน การเสริมสร้างสุขภาพแบบเน้นการป้องกันและชะลอวัย การนำเอาระบบการบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิ หรือคลินิกหมอครอบครัวกลับมา การเน้นการรักษาแบบ Ambulatory Medicine หรืออายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) การดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น NCD มะเร็ง การดูแลผู้ป่วยสูงวัยทั้งภาวะก่อนป่วยและเมื่อป่วย รวมถึง แพทย์ทางเลือก หรือ Alternative Medicine Palliative Care  และ การดูแลรักษาแบบ End of Life Care ทั้งผู้ป่วยและญาติ ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่การสาธารณสุขต้องเตรียมการ”

ตัวอย่างที่น่าสนใจและใช้ได้จริงของประเทศจีน คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพ We Doctor เป็น Application ที่ทางประเทศจีนคิดค้นขึ้น ผ่านทาง We Chat Application โดยรวบรวมข้อมูลโรงพยาบาลกว่า 2,700 แห่ง ข้อมูลแพทย์กว่า 240,000 ท่าน ข้อมูลร้านยากว่า 15,000 แห่ง Application ทำหน้าที่นัดหมายระหว่างผู้ป่วยและแพทย์เพื่อทำการสนทนาและปรึกษาผ่าน Video Call หรือ Phone Call พร้อมสั่งจ่ายยาโดยอาศัย Big Data หรือข้อมูลที่รวบรวมไว้ โดยในปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้ Application นี้กว่า 160 ล้านคน

ในอนาคตการดูแลรักษาจะปรับเปลี่ยนเป็นการดูแลรักษาที่บ้าน หรือชุมชนมากกว่าที่สถานพยาบาล โดยอาศัย Digital Healthcare (Big Data/ AI/ Genomics/ Blockchain เป็นต้น) โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบ P4 Medicine คือ การคาดการณ์ (Predictive) การป้องกัน (Preventive) การดูแลรักษาแบบเฉพาะตัวบุคคลมากขึ้น (Personalized) และการได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อการตัดสินใจในการรักษา (Participatory) ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย และการรักษาจะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

“อย่างไรก็ดี ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมในการดูแลสุขภาพมุ่งสู่ระบบสุขภาพในยุค Thailand 4.0 ก็ยังมีช่องว่างที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาคือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยา อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการคิดค้นและพัฒนา เพื่อลดการนำเข้า พึ่งพาตนเองได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน รวมถึงการนำประเทศไปสู่การเป็น International Medical Hub ในปี 2030 ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพราะประเทศไทยเรามีพื้นฐานการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีบุคลากรทางการแพทย์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ดังนั้น การก้าวสู่ New Normal Healthcare หลัง COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการทางด้านสาธารณสุขของประชาชนคนไทย และประเทศต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ไม่ยาก” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม กล่าวเสริมในตอนท้าย

หลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity for Executives (WHB) รุ่น 1เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ ได้แก่ Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd., The Department of Community and Global Health, The University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท Siam Health Development เพื่อยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมทางการแพทย์และธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับ Wellness และ Healthcare ของประเทศไทยสู่ระดับโลก